ต้นไม้ของพ่อ...

 

 

 

อกจากดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของในหลวงรัชการที่ 9 แล้ว จะลืมเสียมิได้เลยกับต้นไม้ของพ่อ ซึ่งเป็นต้นไม้สัญญลักษณ์ประจำชาติไทย นั่นคือ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน 

         กว่า 50 ปี ทางราชการมีความพยายามหลายครั้งในการกำหนด ให้มีสัญลักษณ์ประจำชาติไทยโดยเฉพาะการกำหนด ต้นไม้ และดอกไม้ประจำชาติ

         ปี พ.ศ.2494 รัฐบาลมีมติให้ถือวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันต้นไม้ประจำปี มีการรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ที่มีประโยชน์ ปี 2506 จึงประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้ และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรก โดยกรมป่าไม้เสนอให้ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน ไม้มงคลที่มีประโยชน์และรู้จักกันแพร่หลาย เป็นต้นไม้ประจำชาติ

         พ.ศ.2530 ส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์อีกครั้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยให้ปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศ จำนวน 99,999 ต้น 

 

 

          พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เสนอให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ประจำชาติ ได้แก่ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติ ได้แก่ ช้างไทย และสถาปัตยกรรมประจำชาติ ได้แก่ ศาลาไทย

          ทั้งนี้ ด้วยต้นราชพฤกษ์ ออกดอกสีเหลืองชูช่อ ดูสง่างาม อีกทั้ง ยังมีสีตรงกับสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงถูกตั้งชื่อว่าเป็น "ต้นไม้ของในหลวง" และมีการลงนามให้ต้นราชพฤกษ์ เป็น 1 ใน 3 สัญลักษณ์ประจำชาติไทย ดังกล่าว

          อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่เลือก ดอกราชพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะเหมาะสมในหลายด้าน คือ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย เป็นไม้มงคลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในพิธีสำคัญๆ เช่น ลงหลักเมือง ลงเสาเอก ทำคฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร

 

 

          อนึ่ง "คูน" เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอร่าม แต่ละช่อยาว 20-40 เซนติเมตร โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลือง 5 กลีบ มีผลยาว 30-60 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่เป็นพิษ นิยมปลูกด้วยเมล็ด โดยจะเติบโตช้าช่วง 1-3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นจะเติบโตเร็วขึ้น และออกดอกตอนอายุ 4-5 ปี

         แหล่งที่มาข้อมูล: สารานุกรมไทย,panmai.com,วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี