เร่งกำจัดหนอนหัวดำช่วยชาวสวนมะพร้าว

 

 

กรมส่งเสริมการเกษตร ยังคงเดินหน้าโครงการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงฤดูกาลนี้ยังไม่มีปัญหามากเท่าหน้าแล้งคือมีนาคมถึงเมษายนแต่การป้องกันเพื่อไม่ให้มีปัญหาการระบาดยังคงต้องดำเนินต่อไป

          นายประสงค์ ประไพตระกูล  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ถึงความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 54 จังหวัด ประมาณ 1.2 ล้านไร่ พบหนอนหัวดำระบาด 29 จังหวัด จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัด ที่มีการระบาดมากที่สุด กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา

 

 

          วิธีการหนึ่งที่ได้ผลมากที่สุดคือการใช้สารเคมี แต่ยังต้องใช้หลายมาตรการควบคู่ด้วย เช่นการให้เกษตรกรได้เรียนรู้ว่ามีการระบาดของหนอนหัวดำและรณรงค์ให้ข้อมูลแก่เกษตรกร การตัดทางใบ การใช้แตนเบียน การส่งเสริมศูนย์ส่งเสริมอารักขาพืชผลผลิตพ่อแม่พันธุ์แตนเบียน มีการเตรียมความพร้อมเกษตรกรที่จะมารับจ้างพ่นสารเคมีในสวนมะพร้าว วางแผนว่าจะดำเนินการฉีดสารเคมีอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเนื่องจากหากเป็นช่วงฤดูฝนอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร

 

 

           นายปราโมทย์ สอนประสม เกษตรกรผู้ปลูกสวนมะพร้าว อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่5 บ้านยาง ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี บอกว่า ครอบครัวยึดอาชีพการปลูกมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เป็นอาชีพดั้งเดิมที่ทำต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 80 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวแกงหรือมะพร้าวที่สำหรับใช้ทำกะทิ และมีมะพร้าวน้ำหอมปลูกเสริมบ้าง ปัจจุบันมีปัญหาหนอนหัวดำกัดกินต้นมะพร้าว เกิดมาได้สักระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะช่วง3-4 ปีหลังรุนแรงมากขึ้น จึงปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกษตรในการแก้ปัญหาด้วยการฉีดสารเคมีเข้าไปในต้นมะพร้าวที่มีความสูง 12 เมตรต้นละ 15 ซีซี และในหนึ่งเดือนเริ่มเห็นว่าใบเริ่มเขียว แตกทางใบสภาพเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีหนอนหัวดำระบาด รวมทั้งใช้แตนเบียนเข้ามาช่วยอีกทาง ที่จะช่วยให้ปัญหาหนอนหัวดำลดน้อยลงไป

 

 

            นายเชาวลิต ชูเสน่ห์ ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี เป็นอีกหนึ่งศูนย์ที่รวมคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตแตนเบียนบราคอน(ศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำมะพร้าว) บอกว่า ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดหนักของแมงดำหนามหรือหนอนหัวดำมาตั้งแต่ปี2554 จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงานการเกษตรอำเภอเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้าน จึงได้จัดตั้งเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืช มีการจัดตั้งกรรมการของแต่ละหมู่บ้านเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของหนอนหัวดำ ตลอดจนประชุมร่วมกับเกษตรกรตำบล เกษตรอำเภอ เพื่อติดตามการระบาด และที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตแตนเบียนเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ปัจจุบันสามารถผลิตแต่ละครั้งมากถึง 994 กล่อง 

 

 

            นายปราโมทย์ เข็มขาว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านอารักขาพืชดินและปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้เกษตรกรได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชเช่นหนอนหัวดำที่เริ่มระบาดรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ด้วยการสำรวจตรวจสภาพพื้นที่การเกษตรหรือสวนมะพร้าวของตัวเองว่ามีแมลงศัตรูพืชหรือไม่ หากมีปัญหาก็ให้ติดต่อผ่านเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ไขในเบื้องต้นด้วยการปล่อยแตนเบียนเพื่อช่วยกำจัดหนอนหัวดำในรูปแบบของการปล่อยให้ธรรมชาติจัดการธรรมชาติด้วยกันหากไม่ดีขึ้นคงต้องใช้สารเคมี แต่ควรเป็นสารเคมีที่ทางราชการแนะนำ นายปราโมทย์ กล่าว