กรมประมง ยัน "ปลานิล" กินดีมีประโยชน์ อย่าเชื่อแชร์มั่ว!

         จากที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย อ้างว่าการเลี้ยงปลานิลมีระบบการเพาะเลี้ยงที่ทำลายธรรมชาติ มีไขมันไม่ดีในปริมาณสูง ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะ เช่น สารดีบุกไดบิวทิล ทิน หรือ DBT (Dibutyltin) ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และสารเคมีที่ใช้ผลิตท่อพลาสติก PVC รวมถึงมีการดัดแปลงตัดแต่งพันธุ์กรรมให้กลายเป็นปลานิล GMO ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้บริโภคนั้น

         ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมตะพัดทอง กรมประมง นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว โดยยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และวอนผู้ไม่หวังดีให้หยุดเผยแพร่ข้อมูลไม่ถูกต้อง

         นายอดิศร กล่าวว่า ปลานิลเป็นปลาที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 และทรงให้กรมประมงนำไปขยายพันธุ์และพัฒนา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดแต่งพันธุกรรม หรือ GMO แต่อย่างใด

         ที่อ้างว่าพบสาร DBT ปนเปื้อนในเนื้อปลานิลนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นสารที่พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายได้เอง ไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยกรมประมงได้ติดตามเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีรายงานตรวจพบสาร DBT และสารเคมีที่ใช้ผลิตท่อ PVC ตามที่เป็นข่าว นอกจากนี้ กรมประมงมีความเข้มงวดในการอนุญาตใช้ยาและสารเคมีในการเพาะเลี้ยงปลานิลตามความจำเป็นเท่านั้น และต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

         นายอดิศร กล่าวอีกว่า กรมประมงมีการผลักดันให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง มีระบบการเลี้ยงที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) มีระบบบริหารจัดการฟาร์มเพื่อยกระดับการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากล มีมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 7417-2559

         ทั้งนี้ปลานิลเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นปลาน้ำจืดที่มีผลผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย จากข้อมูลปี 2559 มีปริมาณผลผลิตปลานิลจากการเพาะเลี้ยง 176,463 ตัน ส่งออกปลานิลและผลิตภัณฑ์กว่า 7,975.4 ตัน เป็นมูลค่า 598.5 ล้านบาท

         ขณะที่ค่าคุณทางโภชนาการนั้น ปลานิล เป็นปลาที่มีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโน และกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จากการศึกษาวิจัยของกรมประมง พบว่าในเนื้อปลานิลปริมาณ 100 กรัมมี โอเมก้า 3 หรือ อีพีเอ และดีเอชเอ 42.86 มิลลิกรัม และโอเมก้า 6 หรือ กรดไลโนลินิค 321.41 มิลลิกรัม ทั้งโอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งร่างกายยังไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ จึงต้องบริโภคอาหารซึ่งมีสารอาหารเหล่านี้