เมื่อ"กระท่อม"มีสรรพคุณเป็นยา!

 

 

เรื่องราวของต้น ”กระท่อม” ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (10 ก.พ.60) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างการเสวนาวิชาการเรื่อง "กระท่อม กัญชา คือพืชยา ไม่ควรเป็นยาเสพติด” โดยนักวิชาการแพทย์ ประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนามองว่าสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้ แต่ต้องผลักดันการวิจัยอย่างจริงจัง รวมไปถึงการแก้กฎหมาย เพื่อปลดล็อกพืชทั้งสองชนิดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

          เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้ความเห็นว่า ยังกังวลเรื่องการควบคุมการใช้ ทว่า ในอนาคตทั้งสองอาจเป็นพืชถูกกฎหมายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และล่าสุด ได้เสนอให้กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมายแต่ต้องควบคุมการใช้ไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว ส่วนกัญชาต้องรอการวิจัยอย่างรอบคอบ ก่อนนำเสนอให้เป็นพืชถูกกฎหมายได้

          กระท่อม (Kratom) พบได้ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย

 

 

          มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa Korth.ในวงศ์ Rubiaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-15 เมตร ,ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบกว้าง 5-10 ซม. ยาว 8-14 ซม.,ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.

        สรรพคุณทางยา - แก้ปวดท้อง , แก้บิด , แก้ท้องเสีย , แก้ปวดเมื่อย , แก้เบาหวาน และแก้ไข้ รวมทั้งในงานวิจัยของชาวอังกฤษและญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์รายงานวิชาการระบุว่า สารธรรมชาติในใบกระท่อม สามารถแก้ปวด ลดไข้ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาแก้ปวดตัวใหม่ได้ โดยไม่มีฤทธิ์เสพติดเหมือนฝิ่น

          ในแง่ประวัติศาสตร์ ใบกระท่อมคือเป็นยุทธปัจจัยหนึ่งในการออกรบของทหาร เพราะทำให้ขยัน นอนหลับดี สามารถทำงานทนแดด-ทนลม รวมทั้งใช้กินเพื่อต้องการเลิกฝิ่นได้ นอกจากนี้ยังใช้รับแขกเหมือนหมากพลู และใช้กินกับน้ำชา โดยผู้ที่เคยกินใบกระท่อมเป็นประจำ ต่างบอกว่า เลิกง่ายกว่า "หมาก"

        การควบคุมตามกฎหมาย - ปี พ.ศ.2486 ไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราช บัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2486 ระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม และตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

 

         –ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2  ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

         –ครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         –จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายพืชกระท่อม โดยมีจำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          -จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายพืชกระท่อม โดยมีจำนวนตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป  จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

         –ผู้ใดเสพพืชกระท่อม จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

 

          ทั้งนี้ การควบคุมในต่างประเทศ สหประชาชาติ(UN) ยังไม่ได้ประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่จาก World drug report 2013 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของสารออกฤทิ์ตัวใหม่ๆ ซึ่งมีพืชกระท่อมรวมอยู่ด้วย 

          จากข้อมูลพบว่าประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม สาร mitragynine และ 7-hydroxymitragynine   ส่วนออสเตรเลีย พม่า รวมถึงไทย มีการควบคุมพืชกระท่อมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด ด้านนิวซีแลนด์ ควบคุมพืชกระท่อม และสาร mitragynine ภายใต้กฎหมาย Medicines Amendment Regulations

          ส่วน World drug report 2013 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ให้ข้อมูลการแพร่ระบาดของพืชกระท่อมว่า พืชกระท่อมมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการรายงานการใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปี ค.ศ.2011 ยุโรปเริ่มการมีขายพืชกระท่อมทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

 

         ผลกระทบจากการเสพ

          -หลังเคี้ยวใบกระท่อม 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน  ทำให้ทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น

          -เกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น

          -อาการข้างเคียง ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็ง นอนไม่หลับ มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม)

          -เสพโดยไม่ได้รูดก้านใบออกจากตัวใบ อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ (เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดก้อนถุง)

          -เสพมากบางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

        ที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522,กระท่อม ยาระงับปวดหรือยาเสพติด เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,