"หนอนกระทู้กล้า" ศัตรูร้ายของนาข้าว

         ศัตรูพืชของชาวนาที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ หนอนกระทู้กล้า (Cutworm) ซึ่งสามารถพบการระบาดได้ทั่วไป แต่จะระบาดรุนแรงเฉพาะบางปีและบางท้องที่ ซึ่งการแพร่กระจายของหนอนกระทู้กล้า โดยลมจะพัดพาตัวแก่บินไปในระยะทางไกลๆ ในบางท้องที่พบระบาดรุนแรงภายหลังจากน้ำท่วม เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามปกติมักจะเกิดขึ้นในระยะเมล็ดข้าวกำลังงอกในแปลงกล้า ประมาณเดือนพฤษภาคม - กันยายน

         อย่างไรก็ตาม พื้นที่ประสบอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อย่างจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และจังหวัดขอนแก่น เมื่อน้ำลดแล้วเกษตรกรบางรายเริ่มปลูกข้าวรอบใหม่ ในระยะนี้ควรระวังการเข้าทำลายของหนอนกระทู้กล้าซึ่งระบาดเป็นประจำ สามารถทำลายต้นกล้าได้รับความเสียหาย

         ดังนั้น เกษตรกรควรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายของหนอนกระทู้กล้าให้รีบแจ้งหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

         หนอนกระทู้กล้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ Spodoptera mauritia (Boisduval) อยู่ในวงศ์ Noctuidae อันดับ Lepioptera ลักษณะของตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ความกว้างของปีกกลางออกประมาณ 3.5 - 4 เซนติเมตร ปีกคู่หลังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบ หรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืช ในพื้นนาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่ม ชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามขอบแปลง ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5 - 4 มิลลิเมตร กว้าง 5 - 6 มิลลิเมตร วงจรชีวิตจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด

         พืชอาหารของหนอนกระทู้กล้า ได้แก่ ข้าว ข้าวป่า ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย หญ้าข้าวนก หญ้าคา หญ้าชันกาด หญ้าไซ หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด หญ้าปล้องหิน

         โดยลักษณะการทำลายนั้น หนอนระยะแรกจะกัดกินผิวใบข้าวเมื่อโตขึ้นจะกัดกินกัดกินทั้งใบ และเหลือไว้แต่ก้านใบข้าวตัวหนอนจะกัดกินต้นกล้าระดับพื้นดินนาข้าวจะถูกทำลายแหว่งเป็นหย่อมๆ และอาจเสียหายได้ภายใน 1 - 2 วัน ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หนอนมีการเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ จากการขยายพันธุ์หลายๆ รุ่นบนวัชพืชพวกหญ้า และเคลื่อนเข้าสู่แปลงกล้าและนาข้าวจากแปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่ง  มักพบระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหลังจากผ่านช่วงแล้งที่ยาวนาน แล้วตามด้วยฝนตกหนัก การระบาดจะรุนแรงเป็นบางปี บางพื้นที่

         สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด มีดังนี้

         1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

         2. กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัย

         3. เมื่อเกิดหนอนระบาดในแปลงกล้า ให้ระบายน้ำเข้าแปลงกล้าจนท่วมยอดข้าว แล้วเก็บหนอนมาทำลายทิ้งเสียก่อนจะปล่อยน้ำออกจากแปลงกล้า

         4. ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารใบจับ 10 - 20 ซีซี (1 - 2 ช้อนแกง ) พ่นให้ถูกตัวหนอนในช่วงเย็น

         5. เมื่อสำรวจพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15% ให้ใช้สารเคมี ดังนี้

         - มาลาไทออน (มาลาไธออน 83% อีซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

         - เฟนิโตรไทออน (ซูมิไทออน 50% อีซี) อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

         - คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 

แหล่งที่มา :   กรมการข้าว และ กรมส่งเสริมการเกษตร