เผยรัฐทุ่ม 2.2 พันล้าน เดินหน้า 11 โครงการ "ชลประทาน-พัฒนาเกษตร"

         จากที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการสำคัญ จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 2,225.4193 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น

         นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า งบประมาณดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แยกเป็น 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ 3 โครงการ วงเงิน 1,737.3007 ล้านบาท และ โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 8 โครงการ 488.1186 ล้านบาท

         สำหรับ โครงการด้านบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน วงเงิน 1,737.3007 ล้านบาทนั้น จะดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก. ก่อสร้างแก้มลิง ก่อสร้างระบบผันน้ำ และค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดิน  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในเขตพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ โดยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 59 โครงการ พื้นที่ 20 จังหวัด 63,207 ครัวเรือน ให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 246,864 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 7.51 ล้าน ลบ.ม.

         ส่วนโครงการพัฒนาการเกษตร จำนวน 8 โครงการ วงเงิน 488.1186 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนการสร้างปัจจัยพื้นฐานรวบรวมและจัดเก็บข้าวเปลือกคุณภาพ วงเงิน 232.0120 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บข้าวเปลือกที่รอจำหน่าย ได้ไม่น้อยกว่า 45,000 ตัน

         2.โครงการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร วงเงิน 123.7746 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและพัฒนา ศพก. ให้มีความพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรของชุมชน

         3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไข่ไหม วงเงิน 53.9350 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตไข่ไหม ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร

         4.โครงการพัฒนาตลาดน้ำ อ.ต.ก. วงเงิน 25.5434 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขยายตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

         5.โครงการโรงแช่แข็งผลไม้และห้องเย็น วงเงิน 20.2545 ล้านบาท เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร

         6.โครงการสร้างเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วพันธุ์ดี สนับสนุนการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่แปลงใหญ่ วงเงิน 16.8962 ล้านบาท เป็นกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มผลิตและเพิ่มพื้นที่ปลูก

         7.โครงการตลาดเกษตรอินทรีย์ อตก. วงเงิน 9.1715 ล้านบาท เพื่อให้ อ.ตก.เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ความยั่งยืน

         8.โครงการส่งเสริมใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพในสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ วงเงิน 6.5314 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในนิคมสหกรณ์ มีเครื่องผสมปุ๋ยไว้ผลิตปุ๋ยตามสภาพดิน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนอย่างยั่งยืน

         ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (การยกกระดาษ A4) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บูรณาการงานสู่ Agenda และ Area รวมทั้งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม/องค์ความรู้ต่างๆ ร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์