มากสรรพคุณ อร่อยคู่ครัว!

 

 

"ผักโขม"เป็นผักพบได้ตามริมรั้ว ริมแนวทางเดิน ที่รกร้างว่างเปล่า ต่อเมื่อได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ด้วยนำมาทำอาหารได้หลากเมนูปัจจุบันจึงได้มีการปลูกเชิงพาณิชย์กันบ้างแล้ว ทว่า เหนืออื่นใด ประโยชน์สรรพคุณทางยา ซึ่งมีผลการวิจัยช่วยบรรเทาสารพัดโรค จึงทำให้ผักชนิดนี้ได้รับความนิยมกว้างขวางขึ้น

       เป็นไม้ล้มลุก วงศ์ AMARANTHACEAEชื่อสามัญ Spiny amaranth ชื่อพื้นเมือง กะเหม่อลอมี แม่ล้อดู่ หมั่งลั้งดุ่ ผักขมหนาม ผักโหม มีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมกินคือผักโขมจีน ผักโขมสวน ผักโขมหัด และผักโขมหนาม 

 

 

       ลำต้น สูง 15-100 ซม.ต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยม สีเขียวแกมม่วงส้ม มีขนเล็กน้อย มีหนามตามข้อ กิ่งก้านมาก 

       ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน รูปใบหอกแกมรูปไข่ โคนสอบเรียวปลายใบแหลมมน ใบเกลี้ยง 

       ดอก ออกเป็นช่อตามยอดและง่ามใบ ไม่มีก้านดอก ดอกเพศผู้อยู่เหนือโคนช่อดอก 

       ผล แห้งแตกได้ รูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น 3 พู ภายในมีเมล็ดมาก

       ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพทั่วๆไป 

 

 

คุณค่าทางอาหาร

       นักโภชนาการได้ศึกษาคุณค่าทางอาหารของผักโขม ขนาด 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน 23 กิโลแคลลอรี่ มีสารอาหารสำคัณ ประกอบด้วย ไขมัน 4% โซเดียม 3% โพแทสเซียม 558mg คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 3.6g กากใยอาหาร 2.2 g น้ำตาล 0.4 g โปรตีน 2.9 g วิตามินเอ1 88% วิตามินซี 47% แคลเซียม10% ธาตุเหล็ก 15% วิตามินบี 6 10% แมกนีเซียม 20% ไทอามิน 5% ไรโบพลาวิน 11% ไนอาซิน 4% วิตามินอี 7% วิตามินเค 4% ซิงค์4% ฟอสฟอรัส5%

 

 

ประโยชน์ผักโขม

           - มีสารซาโปนิน (Saponin) สรรพคุณช่วยลดคอเรสเตอรอล ทำให้ไขมันในเลือดลดลง บำรุงเลือด ช่วยกำจัดสารพิษในร่างกาย ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ

           - มีเบต้าแคโรทีน สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม

           - มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา ได้ดี

           - มีวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงผิว และรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน

           - มีเส้นใยอาหารมาก ช่วยเรื่องการขับถ่าย ลดเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร

 

 

สรรพคุณและรสในตำรายา

            ทั้งต้น รสขมเฝื่อนเย็น ขับปัสสาวะ แก้ตกเลือด แน่นท้อง ขับน้ำนม ใช้ต้นแห้งหรือต้นสดต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการเจ็บคอ แก้บิดถ่ายเป็นเลือด นิ่วในถุงน้ำดี ใช้ภายนอกโขลกพอกหรือชะล้างหรือเผาเป็นเถ้าหรือเป็นผงโรย ฝี แผลงูกัด บวม อักเสบ แก้ลมพิษ

            ราก รสเฝื่อนเย็น แก้ช้ำใน แก้ไข้ ระงับความร้อน แก้เด็กลิ้นเป็นฝ้าละออง เผาไฟพอดำจี้หัวฝีให้แตก แก้ตกเลือด ขับน้ำนม แก้เบื่ออาหาร ใช้ภายนอกแก้ฝี แก้กลาก

วิธีและปริมาณที่ใช้

            - ขับปัสสาวะ แก้บิดถ่ายเป็นเลือด แก้เจ็บคอ โดยใช้ทั้งต้น 1 กำมือหรือประมาณ 50 กรัม นำมาต้มในน้ำ 500 ซีซี แล้วกรองเอาน้ำดื่ม เช้า-เย็น

            - รักษาแผลพุพอง โดยใช้ใบสด 10-15 กรัม นำมาโขลกให้ละเอียดใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็น

 

 

ข้อควรระวังในการบริโภค

          จากการวิจัยพบว่า ผักโขมทำให้ร่างกายมีปริมาณของสารออกซาเลท หรือกรดออกซาลิคสูง อาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้น การบริโภคต้องในปริมาณที่เหมาะสม ห้ามกินดิบๆ ต้องทำให้สุกเพื่อฆ่าสารตัวนี้ หรือกินร่วมกับผักที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ จะทำให้ร่างกายเรารับเอาธาตุเหล็กได้ดีกว่า

 

 

แหล่งที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ไทยสมุนไพร.net, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี