ฝายประชารัฐหนองแวง (ตอนจบ)

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

ฝายประชารัฐหนองแวง

วิถีชลประทานนอกกรอบ (ตอนจบ)

 

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อได้น้ำมาใช้ในกิจกรรมการเกษตร เป็นภารกิจหนึ่งของกรมชลประทาน

         แต่ได้น้ำมาแล้ว จะเอาน้ำไปทำอะไร อันนี้ไม่ใช่ภารกิจโดยตรงก็จริง แต่ถ้าเป็นภารกิจเสริมก็เข้าท่าดีอยู่

         หลักๆของชลประทานที่ผ่านมา คิดเรื่องน้ำทำนาข้าวเป็นหลัก การชลประทานจึงตอบสนองอย่างจำกัดกลุ่มพืชมากๆ

         ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องผูกพันมาแต่อดีต นับแต่สถาปนากรมคลองเมื่อพ.ศ.2445 เมื่อครั้งที่ประเทศไทยมุ่งหวังให้ข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญ หลังสนธิสัญญาเบาริ่งที่เปิดให้ส่งออกข้าวเสรี และมีความต้องการข้าวในตลาดโลกจำนวนมาก

         จากนั้นมา โครงการชลประทานก็มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อตอบสนองการทำนาปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกร ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นที่ฉุกคิดว่า ข้าวใช้น้ำมาก 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ฤดู ระยะหลัง การพัฒนาแหล่งน้ำ จึงเริ่มพูดถึงพืชอื่น อาทิ อ้อย พืชผัก ไม้ผล มากขึ้น

         คุณภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น บอกว่า อีสานมีแหล่งน้ำน้อย การใช้น้ำจึงควรวางแผนให้เกิดประโยชน์สูงสุดผสมผสานกับเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะปลูกหลากหลาย ลดความเสี่ยง มีกินมีใช้แทบไม่ต้องซื้อหามากนัก ยังมีเหลือขายสร้างรายได้เข้าครอบครัวอีกด้วย

         น้ำมีน้อย ใช้อย่างประหยัด ในความเห็นของเขาคือต้องใช้ระบบน้ำหยด คุมการใช้น้ำและใช้น้ำหยดตรงรากพืชโดยตรง

         ปลายทางการใช้น้ำจบแล้ว แต่ระหว่างทางคือการนำน้ำจากฝายมาใช้ทำอย่างไรให้มีความมั่นคงและด้วยต้นทุนต่ำ

         เกษตรทฤษฎีใหม่ มีการขุดสระน้ำอยู่แล้ว แต่ฤดูแล้งสระอาจแห้งได้ ดังนั้นจึงควรขุดบ่อบาดาลเป็นแหล่งน้ำสำรองอีกชั้นหนึ่ง การมีฝายประชารัฐช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินไปในตัว การขุดบ่อบาดาลเท่ากับสำรองน้ำไปในตัว เป็นความมั่นคงด้านน้ำอย่างหนาแน่น

         ปัญหาต่อไปคือจะใช้อย่างไรด้วยต้นทุนต่ำ?

         หนึ่ง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยสูบน้ำ ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำแน่นอน

         สอง ระบบสูบน้ำ ถ้าเป็นระบบทั่วไปแพงมากและใช้ไม่คงทน ซ่อมแซมก็ยาก ดังนั้นต้องประยุกต์ ทีมอาสาบรรเทาภัยแล้งใช้ปั๊มชักที่ชาวบ้านใช้อยู่เป็นฐานของระบบสูบน้ำ และใช้ระบบเจ็ทพ่วงเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถสูบน้ำจากสระขึ้นไปเก็บบนถังน้ำได้ เช่นเดียวกับสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นเก็บในถังได้เช่นกัน

         ระบบนี้ลงทุน 30,000 กว่าบาทเทียบระบบสำเร็จรูปทั่วไปใช้เงินเป็นแสนบาท ประหยัดกว่ามาก แถมเสียก็ซ่อมได้ง่าย หาอะไหล่เปลี่ยนได้ไม่ยาก

         ถ้าดูตามนี้ จะเห็นต้นน้ำคือฝายประชารัฐ กลางน้ำคือระบบสูบน้ำและแหล่งน้ำสำรอง ปลายน้ำคือระบบน้ำหยดและต้นพืชหลากหลาย

         ทั้งหลายนี้ล้วนเป็นกระบวนการต้นทุนต่ำทั้งสิ้น

         การเกษตรต้นทุนต่ำ ยังไงๆก็ไม่มีทางขาดทุน ยังไงก็ไม่เจ๊ง ไม่ต้องขายเรือกสวนไร่นาให้นายทุน

         กลับกัน ทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี มีน้ำใช้ตลอด 12 เดือน มีไฟฟ้าใช้จากโซลาร์ เซลล์ และจะมีชุมชนใหม่ในไร่นาเกิดขึ้น เพราะสามารถสร้างบ้านเรือนอยู่โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกจากไฟฟ้าได้เหมือนในหมู่บ้าน

         นี่คือ หลักคิดของหนองแวง โมเดล สำหรับเกษตรกรบ้านหนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ที่นอกกรอบชลประทานแบบง่ายๆแต่สุดลึกล้ำ และเกิดประโยชน์ครบวงจร

         เป็นฝายประชารัฐ เพื่อชีวิต

         เป็นน้ำเกษตรกรรม เพื่อชีวิต

         เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้สอนในวิชาการชลประทานโดยตรง แต่ความคิดชลประทานนอกกรอบสามารถประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

         แปลงเกษตรของคุณอารี ศรีนวลจันทร์ 15 ไร่ ที่สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรหนองแวง โมเดล ยังคงมีเกษตรกรเดินทางมาดูงานตลอด เพราะปลูกสารพัดผัก ผลไม้ ไม้ใช้สอย มีกินมีใช้ มีเงินเข้าบ้านทุกวันตลอดทั้ง 12 เดือน

         ความอยู่ดีกินดีเหล่านี้ นอกเหนือจากมีน้ำ มีเกษตรกรที่ขยันขันแข็งแล้ว ยังต้องมีคนชลประทานที่กล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ เพื่อชุบชีวิตเกษตรกรให้ลุกขึ้นมายืนได้อย่างสง่างามสมกับเป็นผู้พัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้น