ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำอย่างไรให้ถูกต้อง

         คนไทยชอบทำบุญทำทาน และมีไม่น้อยที่มักใช้วิธีปล่อยสัตว์น้ำ นัยว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา เสริมสร้างบารมี แต่คุณรู้หรือไม่ว่าสัตว์น้ำชนิดใดบ้างที่ไม่ควรปล่อยลงห้วยหนองคลองบึงในเมืองไทย และชนิดใดควรส่งเสริมให้ช่วยกันปล่อยเยอะๆ วันนี้เรามีข้อมูลจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง มาฝาก

         สัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำสาธารณะบ้านเรานั่นคือ สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือที่เรียกว่า เอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) เช่น ปลาดุกอัฟริกัน ปลาดุกลูกผสม หรือ "บิ๊กอุย", กุ้งเครย์ฟิช, เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ ปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล, ปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น

         หากปล่อยสัตว์เอเลี่ยน สปีชีส์เหล่านี้ลงในแหล่งน้ำจะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยมีจำนวนลดน้อยลงถึงขั้นสูญหาย เนื่องจากถูกคุกคามจากสัตว์น้ำต่างถิ่น และยังส่งผลกระทบกับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในกรณีที่สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดเข้าไปในบ่ออีกด้วย

         นอกจากนี้ ปลาต่างถิ่นบางชนิดที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ยังเหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงในบ่อเพาะเลี้ยงแบบปิดเท่านั้น ไม่เหมาะกับการปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาหางนกยูง ปลาดุกบิ๊กอุย

         สำหรับสัตว์น้ำที่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำนั่นคือ สัตว์น้ำสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย อาทิ ปลาตะเพียนขาว, ปลาตะเพียนทอง, ปลาแก้มช้ำ, ปลาสร้อยขาว, ปลาหมอไทย, ปลายี่สกไทย, ปลากราย, ปลาโพง, ปลาบึก เป็นต้น

         ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำสายพันธุ์ไทย สร้างแหล่งอาหารโปรตีน ช่วยรักษาสภาพระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวิภาพให้สมบูรณ์นั่นเอง