ตู้ยาใกล้ตัว!... ยอ

 

 

 

ที่บ้านปลูกต้นยอไว้ 2-3 ต้น (ในภาพ) คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยรู้จัก หรือรู้จักแต่ไม่สนใจเพราะรสชาติที่เฝื่อน ใบที่ขม หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่ขอบอกสรรพคุณของมันนั้นเยอะแยะมากมายจริงๆ 

         ยอ (Yor) จัดเป็นพืชสมุนไพรโบราณที่คนยุคก่อนนำผลใช้เป็นยาบรรเทาสารพัดโรคตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเพราะไม้ผลชนิดนี้ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมหลายอย่างที่ช่วยป้องกันโรคต่างๆ อาทิ โรคระบบประสาทและสมอง เบาหวาน มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ส่วนผลสุกก็นำมาคั้นน้ำดื่มเป็นน้ำผลไม้ เช่นเดียวกับใบนำมาต้มน้ำหรือบดตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่ม

          ปัจจุบันผลยอถูกแปรรูปให้เป็นอาหารเสริมที่ส่วนใหญ่จะเห็นในรูปของเครื่องดื่มนำเข้า ที่มีราคาค่อนข้างแพง 

         เป็นพืชในวงค์ Rubiaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia ชื่อท้องถิ่น ยอ (ภาคกลาง และทั่วไปทุกภาค) มะตาเสือ (เหนือ) แยใหญ่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ต่างประเทศเรียก Noni Wild pine Hog apple และ Indian mulberry

         ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดเล็ก ความสูง 2-6 เมตร ลำต้นเล็ก เปลือกบางติดกับเนื้อไม้ ผิวเปลือกสีเหลืองนวลแกมขาว แตกกิ่งน้อย 3-5 กิ่ง กิ่งเปราะ

 

 

         ใบ เป็นใบเดี่ยว แทงออกตรงข้ามกันซ้ายขวา ทรงรี หรือขอบขนาน กว้าง 10-20 ซม. ยาว 15-30 ซม.สีเขียวสด ก้านใบยาว โคนและปลายใบแหลม ขอบใบ และผิวใบเป็นคลื่น ด้านบนใบมักพบเป็นตุ่มที่เกิดจากแบคทีเรีย

         ดอก ออกเป็นช่อกลมเดี่ยวๆ สีขาว ทรงเหมือนหลอด ดอกแทงออกตามง่ามใบ ไม่มีก้านดอกย่อย เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย กลีบรองดอก และโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบดอกมีสีขาว เป็นรูปท่อ ยาว 8-12 มม.ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก 

         ผล เป็นชนิดผลรวม (multiple fruit) เช่นเดียวกับน้อยหน่า และขนุน ขนาดผล 3-5 ซม. ยาว 3-10 ซม. ผิวเรียบเป็นตุ่มพอง ผลอ่อนจะสีเขียวสด เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมเขียว และเมื่อสุกจะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีขาวจนเน่าตามอายุผล เมล็ดในผลมีมาก แบน ด้านในเมล็ดเป็นถุงอากาศทำให้ลอยน้ำได้ ผิวเมล็ดมีสีนํ้าตาลเข้ม

 

 

         ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ทุกสภาพดิน ที่มีความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน มี 3 สายพันธุ์ คือ M.citrifolia var. citrifolia เป็นสายพันธุ์ที่มีผลหลายขนาด พบได้บริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฮาวาย ตาฮิติ เป็นต้น,M.citrifolia var. bracteata เป็นสายพันธุ์ที่มีผลเล็ก พบมากในทวีปเอเชีย เช่น ไทย พม่า ลาว จีนตอนใต้ เวียดนาม มาเลียเชีย อินโดนีเซีย อินเดีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และ M.citrifolia cultivar potteri เป็นสายพันธุ์ที่ใบมีทั้งสีเขียว และสีขาว พบทั่วไปบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

 

สรรพคุณและประโยชน์
         ใบ - ใบสดใช้ต้มน้ำดื่มหรือนำมาบดตากแห้งชงเป็นชาดื่ม รวมถึงใส่แคปซูลรับประทาน ช่วยแก้กระษัย  แก้ปวดเมื่อยตามข้อมือข้อเท้า รักษาวัณโรค แก้ท้องร่วง ลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้โรคเบาหวาน ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด แก้โรคมะเร็ง แก้โรคเกาต์ ช่วยขับประจำเดือน แก้อาการคลื่นไส้ วิงเวียนศรีษะ  นอกจากนั้น นำใบสดมาคั้นเอาน้ำมาสระผมฆ่าเหา นำมาทารักษาแผล แผลติดเชื้อ เป็นหนอง

        ดอก - ดอกใช้ต้มน้ำดื่มหรือนำมาตากแห้งชงเป็นชาดื่ม แก้วัณโรค โรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด ต้านโรคมะเร็ง แก้ไอ ลดเสมหะ แก้ท้องร่วง

         ผล - เนื้อมีรสเผ็ดร้อน มีสารออกฤทธิ์คือ asperuloside ใช้แก้อาเจียน ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ช่วยขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับนํ้าคาวปลา แก้เสียงแหบแห้ง แก้ร้อนใน แก้กระษัย แก้อาเจียน แก้โรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด ป้องกันโรคมะเร็ง ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาระบาย

         ราก - นำมาต้มหรือดองเหล้ารับประทานเป็นยาระบาย แก้กระษัย ช่วยเจริญอาหาร ใช้รักษาวัณโรค แก้โรคเบาหวาน ป้องกันโรคมะเร็ง โรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงนำมาเป็นสีย้อมผ้า โดยเฉพาะเปลือกรากที่ให้สีแดง ส่วนเนื้อรากจะให้สีเหลือง หรือต้มรวมกันจะให้สีเหลืองปนแดง สีที่ได้จากรากยอจัดเป็นสีที่คงทนต่อซักรีด สีไม่ตกง่าย

 

          ทั้งนี้ น้ำลูกยอมีสรรพคุณช่วยให้เลือดลมดี ขับลม บำรุงธาตุ ขับโลหิต ขับระดูของสตรี แก้คลื่นไส้อาเจียน ถ้าดื่มเป็นประจำก็จะช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก ฉะนั้น ถ้าท่านใดปลูกไว้ที่บ้านไม่รู็จะทำอะไรกับมันดึ ง่ายๆ ลองทำสูตรน้ำลูกยอเพื่อสุขภาพดูครับ

           ส่วนผสม - ลูกยอสุกผลใหญ่ 2 ผล,น้ำสะอาด 1,1/2 ถ้วย,น้ำตาลทราย 1,1/4 ถ้วย,น้ำผึ้ง 1/2 ถ้วย,เกลือ 1/2 ช้อนชา

           วิธีทำ - ทำความสะอาดลูกยอด้วยน้ำสะอาด นำมาใส่ในหม้อเติมน้ำตั้งไฟ ต้มจนลูกยอเปื่อย ปิดไฟ ปล่อยทิ้งไว้ให้พอเย็น

                    - นำลูกยอยีเอาเมล็ดออก จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบางคัดเอากากออก เอาเฉพาะน้ำลูกยอ

                    - น้ำลูกยอที่ได้ให้นำไปต้ม เติมน้ำผึ้ง น้ำตาล เกลือผสมจนละลายเข้ากัน ชิมรส ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น เทใส่ภาชนะพร้อมดื่ม 

 

           ผลข้างเคียง - ลูกยอไม่มีผลข้างเคียงอันตรายถึงแก่ชีวิต ยกเว้นแต่สตรีที่ตั้งครรภ์ห้ามรับประทาน เนื่องจากมีฤทธิ์ขับเลือด

          ที่มาข้อมูล - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.charpa.co.th/articles/noni.asp, มูลนิธิหมอชาวบ้าน,เว็บไซต์ บ้านโหราไทย,เว็บไซต์ http://www.abhaithaiherb.com