ผักพื้นบ้านมากสรรพคุณ!

 

 

"ชะพลู”ผักสมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดที่อยู่คู่ครัวคนไทยมานานหลายทศวรรษทั้งในโหมดอาหารที่ทำได้หลากหลายเมนู เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะในใบมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ แคลเซียม และวิตามินเอ อีกทั้ง มีสรรพคุณทางยาบรรเทาโรคได้หลายขนาน แม้จะมีถิ่นกำเนิดที่หมู่เกาะมาเลย์และหมู่เกาะชวา ประเทศมาเลเซีย ก็ตาม ทว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ไม่แตกต่างกัน จึงมีการเพาะปลูกชะพลูเติบโตได้ดีในบ้านเรา

 

 

        จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย(PIPERACEAE) ชื่อสามัญ Wildbetal Leafbush ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper sarmentosum Roxb. 

        ลำต้น เป็นเถาเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน สูง 30-80 เซนติเมตร สีเขียว แบ่งเป็นข้อแต่ละข้อจะมีรากงอกออกมาช่วยยึดเกาะ

        ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ออกเรียงสลับ แผ่นใบมีบาง ผิวใบเรียบเป็นมัน ลักษณะเป็นรูปหัวใจ กว้าง 5-10 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง โคนใบเว้า ใบมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดดอกมีสีขาว

         ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบ ดอกออกอัดแน่นเป็นทรงกระบอกยาว 

 

 

         ผล สดกลมอัดแน่นอยู่บนแกน

         ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีปักชำ เจริญเติบโตได้ทั่วไปตามที่เปียกชื้นปลูกง่าย โตไว

         ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล ราก ดอก ใบ ทั้งต้น

         สรรพคุณทางยา : ผล ช่วยรักษาโรคหืดและแก้บิด,ราก ขับเสมหะให้ออกทางระบบขับถ่าย ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อขับลม และแก้บิด,ดอก ทำให้เสมหะแห้ง ช่วยขับลมในลำไส้,ใบ ใบมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ มันหอมระเหยที่ให้กลิ่นเผ็ดฉุนในใบทำให้ร่างกายเจริญอาหาร อีกทั้ง มีคุณค่าทางสารอาหารที่สำคัญ คือ แคลเซียม และสารเบต้า-แคโรทีนหรือวิตามินเอในปริมาณสูง,ทั้งต้น แก้เสมหะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ และป้องกันเบาหวาน

 

 

         วิธีการใช้ :

         - เบาหวาน ใช้ชะพลูสดทั้งต้น 7 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ต้มในน้ำเดือด ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ข้อพึงระวัง คือ สังเกตระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังดื่มทุกครั้ง เพราะชะพลูมีผลทำให้น้ำตาลลดลงเร็วมาก

         - ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ต้มราก 1 กำมือ กับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวจนเหลือครึ่งแก้ว ก่อนดื่ม

         - บิด ต้มรากครึ่งกำมือ ผล 2-3 หยิบมือ กับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว ก่อนดื่ม

         - ปัสสาวะบ่อย ใช้ต้นชะพลูทั้งต้นมาย่างไฟให้กรอบ ตำผสมกับเปลือกหอยแครง 7 ฝา ที่เผาไฟให้เป็นขี้เถ้าแล้ว ชงน้ำร้อนดื่ม

         ข้อควรระวัง :

         ไม่ควรกินใบชะพลูในปริมาณมากเกินไปเพราะมีสารออกซาเลต (Oxalate) ที่หากสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้เกิดนิ่วในไตได้ แต่หากเรากินในจำนวนที่พอเหมาะเว้นระยะบ้าง ชะพลูจะช่วยปรับธาตุในร่างกายให้สมดุล

 

 

         ที่มาข้อมูล : เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.กรุงเทพฯ.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2548. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. รวมสาส์น : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้,