ฝนชุกเตือนสวน "ทุเรียน-ลำไย" ระวังโรคใบ

 

 

         กรมวิชาการเกษตร เตือนภัยการผลิตพืชในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 25 กรกฎาคม 2560 ซึ่งสภาพอากาศมีอุณหภูมิต่ำ และฝนตกชุก พืชที่อาจไปรับผลกระทบได้แก่ ทุเรียน ซึ่งเป็นช่วงปฏิบัติการหลังเก็บเกี่ยว ให้ระวังเกิด โรคใบติด หรือใบไหม้ (เชื้อรา Rhizoctonia solani)

         ลักษณะอาการเริ่มแรกพบเป็นแผลคล้ายถูกน้ำร้อนลวกบนใบ ต่อมาแผลขยายตัว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน จากนั้นลุกลามไปยังใบปกติข้างเคียง ถ้ามีความชื้นสูงเชื้อราสาเหตุโรคจะสร้างเส้นใยมีลักษณะคล้ายใยแมงมุมยึดใบให้ติดกัน ใบที่เป็นโรคจะแห้งติดอยู่กับกิ่ง ก่อนหลุดร่วงไปสัมผัสกับใบที่อยู่ด้านล่าง โรคจะลุกลามทำให้ใบไหม้เห็นเป็นหย่อมๆ ใบแห้งติดกันเป็นกระจุกแขวนค้างตามกิ่ง ต่อมาใบจะร่วงจนเหลือแต่กิ่ง และกิ่งแห้งในที่สุด ทำให้ต้นเสียรูปทรง 

         สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไข

         1. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และก่ำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดความชื้นสะสม

         2.หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรค ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่นไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 กรัมต่อน้่ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้่ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้่ำ 20 ลิตร หรือ คิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้่ำ 20 ลิตร ทุก 7-10 วัน โดยพ่นที่ใบให้ทั่วทั้งต้น

         3. ในแปลงปลูกที่มีความชื้นสูง และมีการระบาดของโรคเป็นประจำ ควรใส่ปุ๋ยที มีไนโตรเจนต่ำ เพื่อลดการแตกใบ

         ขณะเดียวกันเกษตรกรผู้ปลูก ลำไย ซึ่งเป็นช่วงเตรียมต้นและแตกใบอ่อน ก็ต้องเผ้าระวัง หนอนชอนใบ ที่จะเข้าทำลายลำไยในระยะแตกใบอ่อน ใบที่ถูกทำลายจะมีอาการคล้ายโรคใบไหม้ มีสีน้่ำตาลแดง โดยที่หนอนเริ่มเจาะที่ฐานเส้นกลางใบแล้วเคลื่อนไปทางปลายใบ ก่อนถึงปลายใบหนอนจะชอนไชเข้าไปในส่วนเนื้อของใบ รอยที่หนอนเจาะเข้าไปจะพบมูลหนอนอยู่ด้วย เมื่อหนอนโตเต็มทีแล้วจะออกมาเข้าดักแด้ข้างนอกตามใบลำไยโดยชักใยห่อหุ้มตัวเองอยู่ภายใน ถ้ามีการระบาดรุนแรง ใบอ่อนจะถูกหนอนทำลายหมด

         ทั้งนี้แนวทางป้องกันและแก้ไข

         1. รวบรวมยอดอ่อน หรือใบอ่อนที่มีรอยทำลายของหนอนชอนใบเพื่อเผาทำลาย

         2. เก็บดักแด้ของหนอนชอนใบ ซึ่งเจาะออกมาเข้าดักแด้ตามใบแก่หรือใบเพสลาด นำไปทำลาย

         3. ถ้ามีการระบาดของหนอนชอนใบรุนแรงขณะลำไยแตกใบอ่อน ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้่ำ 20 ลิตร