เกษตรกรแห่ร่วม"เลี้ยงวัว"เกินเป้า!

 

 

โคบาลบูรพาโครงการสร้างอาชีพ มั่นคง มั่งคั่ง เกษตรกรแห่ร่วมเกินเป้า ต้องขึ้นบัญชีไว้รอบต่อไป

          นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงความคืบหน้าของโครงการโคบาลบูรพาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงโค-แพะ ในพื้นที่ จ.สระแก้วนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการระดับพื้นที่คัดกรองเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน  6,100 คน ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฏาคม 2560 นี้ และในส่วนเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน แต่ยังไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะผู้สนใจสมัครเป็นจำนวนมากเกินเป้าหมายที่วางไว้ โครงการจะทำการขึ้นบัญชีไว้ในลำดับต่อไป

 

          สำหรับคุณสมบัติและเกณฑ์การคัดเลือกเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ คือ เกษตรกรจะต้องมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการมาตั้งแต่ปี 2557-2560 และมีพื้นที่ปลูกพืชอาหารรสัตว์ 5 ไร่ต่อราย หลังผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและอบรมเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรจะได้รับเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ใช้ก่อสร้างโรงเรือนรายละ 58,000 บาท และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ต้องทำสัญญากู้ยืมโคเนื้อเพศเมียลูกผสมพื้นเมืองรายละ 5 ตัว เพื่อนำไปเลี้ยงจนได้ลูกและส่งคืนลูกโคเพศเมียอายุ 12 เดือน ให้โครงการ 5 ตัว เพื่อนำไปให้เกษตรกรรายใหม่ยืมไปเลี้ยงต่อ เกษตรกรที่ทำสัญญากู้ยืมโคจึงได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าของโครุ่นแรกเต็มรูปแบบ ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะก็เช่นกัน จะได้รับฝูงแพะเพศเมีย 30 ตัว เพศผู้ 2 ตัว และต้องส่งลูกแพะเพศเมียอายุ 6 เดือน จำนวน 32 ตัว คืนให้โครงการ จึงได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าของฝูงแพะที่ได้ยืมไปอย่างถาวร

 

 

          ทั้งนี้ โครงการนี้ฯ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน สภาพดินขาดความสมบูรณ์ แล้งซ้ำซาก ปลูกพืชผักไม่ได้ผล ได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูโดยการเปลี่ยนอาชีพทางการเกษตรอื่นในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงปศุสัตว์ ให้สามารถประกอบอาชีพปศุสัตว์โดยมีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน จากการส่งเสริมและขยายผลให้ได้แม่โคเนื้อ 120,000 ตัว ส่งเสริมอาชีพและขยายผลได้แม่แพะ จำนวน 27,200 ตัว ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ไม่เหมาะสมเพื่อเลี้ยงโคเนื้อและแพะ จำนวน 30,300 ไร่ ส่งเสริมแปลงใหญ่และจัดตั้งสหกรณ์ โคบาลบูรพาในพื้นที่ จ.สระแก้ว จะเป็นฐานการผลิตโคเนื้อเข้าสู่ระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อของภาคตะวันออก เพื่อเป็นที่ต้องการของตลาดประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา และประเทศลาว อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว