สรรพคุณ"ลดความดัน-ต้านมาลาเรีย"

 

          ในมุมมองของเราแห้วหมูคือหญ้าหรือวัชพืชกำจัดมันยากที่จะให้หมดไปจากผืนดินของเรา เพราะมันกระจายพันธุ์เร็วมาก แต่คุณรู้หรือไม่ในตำรายาแผนโบราณของไทยและต่างประเทศ มีการใช้หญ้าชนิดนี้เป็นยาสมุนไพรมาหลายทศวรรษ

          มี 2 ชนิด คือ แห้วหมูใหญ่ และแห้วหมูเล็ก ต่างกันที่ความสูงของต้น ดอก สังเกตง่ายๆคือแห้วหมูใหญ่ดอกสีน้ำตาลแดง หัวมีรสเผ็ดร้อน ส่วนแห้วหมูเล็กดอกคล้ายดอกบานไม่รู้โรย สีขาว หัวมีรสหวานเย็น เผ็ดเล็กน้อย

          สรรพคุณทางยา : ส่วนที่นำมาใช้ปรุง คือ หัว ต้น ราก และใบ 

 

 

          ตำรับยาไทย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ ลดความดัน ลดความอ้วน บำรุงครรภ์ แก้ธาตุพิการ ขับพยาธิ ขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้บิด แก้กระษัย แก้คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยระงับอาการหอบหืด และเป็นยาอายุวัฒนะ

          ปัจจุบันมีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาว่า หญ้าแห้วหมูมีฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งและการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อมาลาเรีย เชื้อไวรัส มะเร็ง แก้ไข้ แก้ปวด  แก้อาเจียน และมีการนำไปเข้าตำรับยาแก้ปวด แก้โรคกระเพาะ ปวดประจำเดือน

          ทั้งเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีการวิจัยพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบที่มีฤทธิ์ช่วยลดความเจ็บ ผ่อนคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝีเจ็บคอและอาการท้องเสีย

 

 

          ตำรับยาอายุรเวทอินเดีย เขาจะนำแห้วหมูมาใช้เพื่อรักษาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่นเดียวกับชาวเปอร์เซีย ชาวอาหรับ ที่เอาส่วนหัวของมันมาตำผสมกับขิงและกินกับน้ำผึ้ง แก้บิด แก้ปวดท้อง ขับลม

          จัดอยู่ในจำพวกหญ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus rotundus L. สูง 10-15 ซม.ลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นหัวกลม สั้น มีตามาก สีดำ แทงไหลได้ไกล แล้วเกิดหัวใหม่ขึ้นเป็นต้นเหนือดิน

          ใบ เล็กยาวคล้ายรูปหอก กลางใบเป็นร่อง ผิวใบเรียบสีเขียวเข้ม

 

 

ดอก สีน้ำตาล เกิดที่ปลายยอด เป็นก้านช่อดอกแล้วแตกเป็นช่อย่อยอีกหลายช่อ  

          ผล สีน้ำตาลหรือดำ เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด

          ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด หรือหัวใต้ดิน      

ที่มา : สถาบันการแพทย์แผนไทย,สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล,กองวิจัยการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,สารศิลปยาไทย (ฉบับที่ 23)