ชู"สกลนคร"แหล่งสินค้าจีไอ-ท่องเที่ยว!

 

 

นายทศพล  ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำคณะลงพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ หรือสินค้าจีไอ ที่ จ.สกลนครซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมากที่สุดในประเทศถึง 5 รายการ เท่ากับ จ.เชียงราย ได้แก่ เนื้อโคขุนโพนยางคำ ผ้าครามธรรมชาติ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี หมากเม่าสกลนคร และน้ำหมากเม่าสกลนคร ซึ่งได้พัฒนาแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิต แปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยพัฒนานวัตกรรม พร้อมมอบตราสัญลักษณ์จีไอให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมครามกุดแฮด อ.กุดบาก จ.สกลนคร ที่พัฒนาสินค้าได้มาตรฐาน เพื่อให้ใช้ตราจีไอ เพิ่มมูลค่าให้กับ

 

 

อย่างไรก็ตาม สินค้าจีไอจังหวัดสกลนคร มีการสร้างระบบควบคุมภายในจังหวัด ผ่านการตั้งชมรม ไทสกล คน GI” เพื่อส่งเสริมสินค้าจีไอให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้ปี 2559 สินค้าจีไอของสกลนคร สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน กว่า 908 ล้านบาท

นอกจากการส่งเสริมสินค้าจีไอ ยังให้จัดทำระบบมาตรฐานสินค้าจีไอ เพื่อควบคุมคุณภาพให้ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้สินค้าจีไอเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยจะให้ จ.สกลนคร เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาแหล่งผลิตสินค้าจีไอเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวใช้เอกลักษณ์ของผ้าครามธรรมชาติ ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายที่ผ่านกระบวนการย้อมครามธรรมชาติตามภูมิปัญญาท้องถิ่นทำให้ได้สีฟ้าอ่อนถึงสีน้ำเงินเข้มเป็นมันวาว สีไม่ตก มีกลิ่นเฉพาะตัว มาจัดตั้ง "ถนนคนเดินผ้าคราม" ในย่านชุมชนท้องถิ่น พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดเพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าจีไอไปสู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชน 

 

นายทศพล  ทังสุบุตร

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอนั้น ในปีนี้ มีส้มบางมด และลิ้นจี่บางขุนเทียน ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอของกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมอีก 2 รายการ ทำให้ปัจจุบันมีทั้งหมด 76 รายการ จาก 53 จังหวัด มีผู้ประกอบการ ที่ใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์จีไอ กว่า 1,400 ราย ส่วนสินค้าจีไอ ที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคำขออีก 20 สินค้า ใน 17 จังหวัด ทำให้เหลืออีก 7 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเร่งเข้าไปช่วยสร้างมาตรฐานการผลิตสินค้า เช่น มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว สมุครสาคร น้ำแร่เมืองนอง จ.ระนอง และหอยชักตีน กระบี่ เป็นต้น เพื่อให้สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ทั้ง 7 จังหวัด ภายในปีนี้ เพื่อให้มีสินค้าจีไอครบทั้ง 77 จังหวัด

 

นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ชาวสกลนครพอใจที่ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาและผลักดันสินค้าของดีในกลุ่มสินค้าจีไอใน 4-5 รายการของจังหวัดให้มีคุณค่าและได้ตรารับรองสินค้าจีไอจะทำให้สินค้าจีไอของจังหวัดสามารถเพิ่มยอดขายและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วประเทศได้ในเวลาอีกไม่นาน และเห็นว่าหากกระทรวงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ก็จะเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวสกลนครได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาจังหวัดมีรายได้ในกลุ่มสินค้าจีไอมากกว่า 900 ล้านบาท และน่าจะเพิ่มมากขึ้นได้อีกมาก 

 

 

นอกจากนี้ ทางจังหวัดมีเป้าหมายที่จะใช้อัตราลักษณ์ของดีในสินค้าจีไอไปต่อยอดควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยว แม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงพาณิชย์แต่ด้วยเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมชนเผ่าที่หลากหลายและมีวัดดีวัดดังอยู่หลายวัดที่ประชาชนในพื้นที่ให้การเคารพนับถืออย่างมาก ซึ่งในปีที่ผ่านมามูลค่าการท่องเที่ยวในสกลนครมีมากถึง 1,900 ล้านบาท ดังนั้น การเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยวผ่านสินค้าจีไอจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสกลนคร และทางจังหวัดอยู่ระหว่างที่จะนำของดีและเป็นอัตราลักษณ์อีกหลายสินค้าไปจดให้เป็นสินค้าจีไอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นได้ต่อไป