ธ.ก.ส.เดินหน้าสร้างSMEเกษตร

      ธ.ก.ส.เดินหน้าสร้างเอสเอ็มอีเกษตร หวังให้เป็นหัวรถจักรลากโบกี้เพื่อนเกษตรให้เติบโตไปด้วยกัน ด้าน บสย.เผย 5 เดือนแรกค้ำประกันสินเชื่อเอส เอ็มอีรายจิ๋วกว่า 5,400 ล้านบาท

      นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน “smart sme expo 2017” ว่า ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีศักยภาพ โดยเร็วๆนี้ กระทรวงฯจะจัดทำโรดแมพอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และเมื่อเสร็จจะนำเสนอสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป 

 

นายอุตตม สาวนายน

        นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เอสเอ็มอี มีบทบาทอย่างมากในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ และตามที่รัฐบาลไทยจัดให้มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 11 แห่ง ตามแนวชายแดนของประเทศนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) จัดให้มีพื้นที่สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย และตามนโยบายประเทศไทย 4.0 รัฐบาลจะเดินหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ลงทุนโครงสร้างอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ สิ่งนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนจะต้องตระหนักและเริ่มจับมือกันแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ที่กำลังจะเกิดขึ้น 

        นายประเดิมชัย จันทร์เสนะ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยเดินหน้าสร้างเอสเอ็มอีเกษตร ด้วยการมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตรกรไทยให้มีศักยภาพสามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรเบื้องต้นไม่สามารถแข่งขันได้ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอดไปอีกขั้น ซึ่ง ธ.ก.ส.มุ่งหวังให้เอสเอ็มอีเกษตรเป็นหัวขบวนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย จึงเปรียบได้กับเอสเอ็มอีเกษตรทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรช่วยลากโบกี้รถไฟเกษตรกรออกไปแข่งขันได้ 

 

 

        ปัจจุบัน ธ.ก.ส. แบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มรายย่อย เรียกว่า กลุ่ม small คือ กลุ่มเกษตรขนาดเล็ก ที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่มาก และต้องการเข้าถึงสถาบันการเงินซึ่งเป็นแหล่งเงินทุน กลุ่มที่ 2 กลุ่ม Smart Farmer เป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนาตัวเอง และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่ม SMEs เกษตร เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และจะเป็นหัวรถจักรลาก 2 กลุ่มไปด้วยกัน ธ.ก.ส. มีนโยบายที่จะสร้างเอสเอ็มอีเกษตร ประมาณ 7,000 ราย ภายใน 2 ปีนับจากนี้ไป และจะเพิ่มเป็น 10,000 รายในปีที่ 3 ปัจจุบันสามารถสร้างเอสเอ็มอีเกษตรแล้วกว่า 2,000 ราย และพร้อมที่จะลากโบกี้ได้แล้ว

       สำหรับในโอกาสที่ ธ.ก.ส.ร่วมงาน SMART SME EXPO 2017 นำเอสเอ็มอีเกษตรมาจัดแสดงที่บูท ธ.ก.ส.ด้วย เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมทาน COCO FRESH เป็นเกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนมะพร้าวที่สามารถแปรรูป เป็นน้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมรับประทานส่งขายร้านสะดวกซื้อ ซึ่งนอกจากแปรรูปแล้ว ยังรับซื้อจากเกษตรกรข้างเคียงมาแปรรูปด้วย ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าวได้ จากที่รับซื้อลูกละ 15 บาท ปรับเพิ่มเป็นลูกละ 50 บาทหลังแปรรูป เป็นต้น 

 

นายประเดิมชัย จันทร์เสนะ 

        นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังต้องการสร้างกลุ่มเกษตรอัจฉริยะ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เกษตรกรรายบุคคล ส่วนที่เป็นวิสาหกิจชุมชนและส่วนที่เป็นผู้ประกอบการ โดย ธ.ก.ส.จัดชุดสินเชื่อส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะด้วย โดยภายในงาน SMART SME EXPO 2017 ธ.ก.ส.นำนวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะมาจัดแสดงที่บูทของ ธ.ก.ส. ด้วย และ ธ.ก.ส.ยังช่วยเหลือเกษตรกรในการเชื่อมโยงให้เกษตรกรสามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายทั้งในส่วนของสหกรณ์การเกษตรและสถานีบริการน้ำมันบางจากด้วย

       ด้านนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไปสายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  เปิดเผยว่า ความต้องการสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอียังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีรายจิ๋ว หรือไมโคร เอสเอ็มอี  ซึ่งพบว่ายอดค้ำประกันสินเชื่อไมโครของ บสย.มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 สามารถช่วยเอสเอ็มอีรายจิ๋วเข้าถึงสินเชื่อ และอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อไมโครกว่า 5,400 ล้านบาท 

 

นายวิเชษฐ วรกุล 

       สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บสย.เตรียม 5 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม Start-up  & innovation วงเงิน 9,800 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน (PGS6) วงเงิน 84,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่ออุทกภัยภาคใต้ วงเงิน 4,300 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อไมโคร วงเงินค้ำประกัน 8,000 ล้านบาท รวมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 100,000 ล้านบาท คาดว่าผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับการตอบรับที่คึกคักและเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นสำหรับงานในปีนี้ คือ ค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มไมโคร สำหรับผู้ประกอบการ ที่ต้องการวงเงินสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย

      ทั้งนี้ งาน smart sme expo 2017 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-2 ก.ค.2560 ฮอลล์ 3-4 อิมแพคเมืองทองธานี