ดินดี กระท้อนดีที่ ระยอง ฮิ

 

       จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกผลไม้ ที่ได้คุณภาพมากแห่งหนึ่ง  ยิ่งในช่วงนี้ ทุเรียน มังคุด  เงาะ กำลังให้ผลผลิตออกมามาก ชาวสวนต่างร่ำรวยกันถ้วนหน้า แต่ก็มี ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น อย่าง กระท้อน  ก็กำลังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกวัน

คุณสมชาย บุญก่อเกื้อ  เจ้าของ สวนอุดมสมบูรณ์  อำเภอแกลง จังหวัดระยอง  และเป็นเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน และยังเป็นศูนย์ ศพก. อำเภอแกลง  เป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ และเป็นแปลงใหญ่มังคุดต้นแบบของจังหวัดระยองอีกด้วย 

 

คุณสมชายบอกว่า  เดิมทีได้บุกเบิกพื้นที่ 23 ไร่จากที่ดินที่ไม่สามารถและไม่เหมาะสมจะทำการเกษตรใด ๆ ได้เลย   แต่จากการพัฒนาตามกระบวนการที่ถูกต้องทำให้ผืนดินแห่งนี้กลายเป็นจุดเรียนรู้ทางการเกษตรที่ดีจุดหนึ่งให้กับเกษตรกรได้เข้ามาศึกษาการทำการเกษตรอย่างถูกต้อง  มีการพัฒนาพื้นที่สปก.แห่งนี้ด้วยการปรับปรุงบำรุงบำรุงดินตามกระบวนการที่ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานต่าง  ๆ ตลอดจนศึกษาการพัฒนาที่ดิน มีการใช้สารอินทรีย์เข้ามาร่วมในกระบวนการปรับปรุงดินทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี จากดินมีค่าความเป็นกรดสูงได้แก้ไขจนค่าความเป็นกรดลดลงตามลำดับและจากผืนดินที่ไม่สามารถทำการเกษตรใด ๆ ได้  กลายมาเป็นสวนเกษตรที่มีคนเข้ามาเรียนรู้จำนวนมาก

 

 

ได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกและดูแลตามความเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีที่ต้นทุนจะสูงและในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมดจากที่ขณะนี้ได้กลายเป็นสวนอินทรีย์ไปแล้ว 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ โดยจะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากวัสดุตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วและรับซื้อทั่วไปเช่นกิ่งไม้เศษไม้ต่าง ๆ และเก็บไว้ที่ธนาคารปุ๋ย แต่ที่ยังเหลือเป็นเคมีอยู่บ้างนั่นคือมังคุดเนื่องจากจะต้องส่งขายตลาดต่างประเทศยังต้องป้องกันศัตรูพืช ส่วนกระท้อนปลูกด้วยอินทรีย์ทั้งหมดและขายตลาดในประเทศอย่างเดียวเท่านั้นและหากพูดถึงเรื่องรายได้เจ้าของบอกว่ารายได้เพิ่มจากที่เมื่อ 3- 4 ปีก่อนที่จะอยู่ที่  5 - 6 แสนบาทขณะนี้เพิ่มเป็นหลักล้านแต่สวนแห่งนี้ไม่ปลูกทุเรียนและเงาะเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับที่ดินแห่งนี้มีความเหมาะสมกับการปลูกมังคุด กระท้อนและพุทรามากกว่า

 

 

แม้ว่าจะมีการปลูกมังคุดส่งต่างประเทศแต่ความเด่นของผลไม้ที่นี่คือ "กระท้อน"  ที่มากถึง 200 ต้นด้วยกัน  มองเห็นว่า จังหวัดระยองไม่มีผู้ปลูกหรือมีอาจน้อยแต่ไม่มีคุณภาพและมั่นใจในรสชาติที่หวาน เนื้อในนุ่ม อร่อยถูกใจผู้บริโภคโดยนำพันธุ์มาจาก"ลุงพูน"และเมื่อปลูกแล้วผลออกสีทองสวยงามจึงตั้งชื่อว่า"ทองพูน"เพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงลุงพูนที่ให้เมล็ดพันธุ์มาปลูกและนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าจนปัจจุบันจากการปลูกกระท้อนขายสร้างรายได้อย่างงาม กระท้อนพันธุ์นี้จะมีสีทองโดยดูจากก้นของผลส่วนความหวานจะฉีดฮอร์โมน

 

สำหรับผลกระท้อนที่นี่จะแบ่งออกเป็นสองไซส์คือ A และB สามารถผลิตตามความต้องการได้เช่นลูกละ 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 100 บาท หากมีน้ำหนักลดลงก็จะขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 60 บาท  ผลผลิตที่นี่จะเก็บเกี่ยวปีละครั้ง ๆ ละ 15 - 20 ตันหรือประมาณ 6 หมื่นถุง  (กระท้อนแต่ละลูกจะถูกห่อด้วยถุงเพื่อป้องกันแมลงวันทองขณะที่ลูกยังเป็นสีเขียวเพราะเมื่อมีสีเหลืองแมลงชนิดนี้จะชอบสีและกลิ่น ) โดยระยะเวลาในการปลูกจะอยู่ที่ 120 - 130 วันก็เก็บผลผลิตได้ การขายจะขายเป็นลูก ๆ เฉลี่ยลูก ละ 50บาท   โดยได้เปิดสวนให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ถึงวิธีการทำเกษตร ได้เข้ามาชิม  เลือกซื้อ กระท้อนเป็นๆกันถึงสวนด้วย  ผู้สนใจก็แวะเข้าไปได้ ที่สวน สวนอุดมสมบูรณ์    โทรศัพท์ 038 657 178  , 081 377 9536

 

นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข

นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2  กรมพัฒนาที่ดิน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในฐานะหน่วยงานที่มาดูแลเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน  กล่าวว่า หน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินในการดูแลพื้นที่การเกษตรหรือเกษตรกรรมทั่วไปว่า  กรมพัฒนาที่ดินโดยหลักแล้วจะเน้นการดูแลพื้นที่ทำกินของเกษตรกร พร้อมทั้งให้เกษตรกรตระหนักถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเองให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่เพิ่มผลผลิตมากขึ้น แต่ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมของการใช้สารปรับปรุงบำรุงดินต่าง ๆ เช่นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ไม่จำเป็น หากพื้นที่ดินเหล่านั้นมีคุณค่าทางอาหารเพียงพอแล้ว แต่ยังต้องปรับปรุงบำรุงดินบริหารจัดการให้ถูกต้องและเหมาะสมตามช่วงเวลาโดยตลอดเช่นกัน  แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ก็ต้องดูแล

 “กรมพัฒนาที่ดินก็คงตายจากไปพร้อมกับเกษตรกร อย่างไรก็ตามเกษตรกรในยุคปัจจุบันนี้ถือว่ามีความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตรมากขึ้น มีการศึกษาหาความรู้จากสื่อโซเชียลต่าง ๆ ด้วยตนเองอันนำมาสู่การวางแผนการทำการเกษตรที่ถูกต้อง  จะเห็นได้ว่าในระยะหลังเกษตรกรบ้านเรามีการปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์มากขึ้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องมีใจรักในอันดับแรก ดังจะเห็นได้จากสวนกระท้อนที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีมีการบริหารจัดการแปลงที่ดีเริ่มตั้งแต่แหล่งน้ำ การผลิตปุ๋ย ที่หากมีกระบวนการที่ไม่ดีก็จะกระทบกับผู้บริโภคได้ ตลอดจนการดูแลพัฒนาดินอย่างต่อเนื่อง เพราะทำการเกษตรเพื่อค้าขาย”  ผอ.ก่อเกียรติ กล่าว