แปลงใหญ่มังคุดยกระดับด้วย"ประมูล"

            แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ชูจุดแข็งกลุ่มด้านการตลาดด้วยวิธีการประมูลมังคุด ส่งผลต่อการพัฒนาเกษตรกรและผลผลิตมังคุดในภาพรวม คือ เกษตรกรเกิดการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น เกษตรกรสามารถสร้างอำนาจในการต่อรองราคา ประสานงานกับผู้ประกอบการได้เอง สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีช่องทางการตลาดมากขึ้น สามารถขายผลผลิตได้ทุกเกรดคุณภาพ และสมาชิกมีความรัก ความสามัคคี มีกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันอย่างเข้มข้นระหว่างแปลงใหญ่กับ ศพก.

นายพิพัฒน์ อินทรเจริญ ประธานแปลงใหญ่ มังคุด อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การรวมแปลงใหญ่มังคุดของอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ได้เน้นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลทั้ง 5 ด้านด้วยกันได้แก่ 1. การลดต้นทุนการผลิต โดยการจัดตั้งกองทุนปุ๋ยหมุนเวียน การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี เช่น การผลิตและใช้ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฮอร์โมนไข่  น้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง การใช้ปุ๋ยตามค่าวอเคราะห์ดิน และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมตามหลัก GAP 2. การเพิ่มผลผลิต ที่จะเน้นใช้สารเคมีปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามช่วงระยะเวลาการผลิตพืช 3. การบริหารจัดการ มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มังคุดแปลงใหญ่เขาคิชฌกูฏ  พร้อมกับตั้งคณะกรรมการและมีการกำหนดบทบาทหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน โดยกลุ่มจะมีการประชุมกันเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งยังร่วมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน โดยสมาชิกทุกรายมีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานในแต่ละรอบการผลิตและนำมาถอดความรู้เพื่อเป็นแผนการปฏิบัติงานของกลุ่ม 4. การเพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลผลิต กำหนดให้สมาชิกทุกรายต้องได้รับการรับรอง GAP และผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเดียวกัน 5. การตลาด มีแผนการพัฒนาในอนาคตต้องการให้กลุ่มมีความมั่นคงทางการตลาด มีการซื้อขายล่วงหน้า Contract Farming มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ QR Code ซึ่งปัจจุบันได้มีการทำตลาดมังคุดด้วยการประมูลมังคุดก็ทำให้ราคามังคุดของเกษตรกรสูงขึ้น

ปัจจุบันแปลงใหญ่ มังคุด ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี มีสมาชิกจำนวน 31 ราย พื้นที่รวม 311 ไร่ ในเขตพื้นที่ความเหมาะสมปานกลาง (S2) สำหรับการปลูกมังคุด นอกเขตชลประทาน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้น้ำจากสระน้ำส่วนตัว จากการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ก็มีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่เขาคิชฌกูฏร่วมด้วย  เมื่อวันที่  29 ธันวาคม 2559  ซึ่งได้มีการระดมหุ้นจากคณะกรรมการและสมาชิก ในราคาหุ้นละ 500 บาท เพื่อใช้ในการบริหารงานร่วมกัน ปัจจุบันมีจำนวน หุ้น 28 หุ้น และทำการเปิดบัญชีกลุ่มเพื่อรองรับงบประมาณจากโครงการต่างๆ รวมถึงใช้ในการทำกิจกรรมของกลุ่ม

อย่างไรก็ตามจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ขณะนี้มีการดำเนินไปบ้างแล้ว อาทิ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงเหลือ 7,939 บาท ลดลงมาเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้  ส่วนผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,080 กิโลกรัม/ไร จากเดิมได้เพียง 900 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนเรื่องการตลาดขณะนี้มีการนำวิธีการประมูลมาใช้ ซึ่งก็ทำให้เกษตรกรสามารถขายมังคุดได้ราคาดีกว่าท้องตลาด ภายใต้การคัดมังคุดคุณภาพเข้ามาสู่ตลาดประมูล นอกจากได้ราคาดีแล้วส่วนสำคัญในการใช้วิธีการประมูลมังคุดยังทำให้เกษตรกรตระหนักถึงการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ในเรื่องของตลาดขณะนี้ไม่มีปัญหา เพราะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกมีความเชื่อมั่นว่าการทำตลาดด้วยวิธีการประมูลเป็นวิธีการที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแทรกแซงทางการตลาดจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางบ้างด้วยการมาดั้มราคาในสวนเพื่อให้ขายผลผลิตให้กับเขาในราคาที่สูงกว่าการประมูลแต่สมาชิกกลุ่มก็ไม่ได้หวั่นไหวและยังคงเหนียวแน่นกับการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ที่จะเน้นการดำเนินงานการผลิตการขายในลักษณะกลุ่มต่อไป

สำหรับขั้นตอนและวิธีการประมูลมังคุดของกลุ่ม จะเริ่มจาก 1. สมาชิกคัดเกรดคุณภาพมังคุด ออกเป็น 3 เกรด ได้แก่ ผิวมันรวม ตกไซส์ ขนาด 60-65 กรัมต่อผล และ ผลแตก 2. สมาชิกชั่งน้ำหนักผลผลิตตะกร้าละ 23 กิโลกรัม และแจ้งปริมาณผลผลิตทาง line กลุ่ม 3. สมาชิกนำผลผลิตมาลงทะเบียนและชั่งน้ำหนัก ด้วยตาชั่งกลางของกลุ่ม ณ สถานที่ประมูล คือ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทุ่งเหียง ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ 4. สมาชิกร่วมกันตรวจสอบคุณภาพมังคุด ถ้ามีมังคุดไม่ได้คุณภาพปนเข้ามาจะทำการคัดใหม่ เพื่อให้ได้มาตรฐานตรง และเมื่อมีสมาชิกรายใหม่ จะทำการตรวจสอบคุณภาพใหม่ทุกครั้ง 5. ตัวแทนผู้ประกอบการ โรงคัดบรรจุ หรือ ล้ง จะเดินดูผลผลิตที่เข้าประมูล และใส่ราคา ที่ต้องการตามคุณภาพผลผลิตโดยต้องใส่ในตะกร้าผลผลิตของสมาชิกทุกราย 6. หลังจากผู้ประกอบการใส่ราคาให้กับสมาชิกครบทุกราย ตัวแทนกลุ่มจะเป็นผู้เปิดราคา และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน โดยผู้ที่ให้ราคมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล 7. ผู้ประกอบการจ่ายเงินให้กับเหรัญญิกกลุ่ม และทำการขนถ่ายผลผลิตกลับ และเหรัญญิกจ่ายเงินให้กับสมาชิก โดยการโอนเงินเข้าบัญชี หรือจ่ายเป็นเงินสด ในวันเดียวกัน

โดยปริมาณผลผลิตที่เข้าร่วมทำการประมูล ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ระยะเวลา 27 วัน มีปริมาณผลผลิตรวมทั้งสิ้น จำนวน 53,505 กิโลกรัม แบ่งเป็น เกรดมันรวม ปริมาณ 47455 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 99.89 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาตลาด ทั่วไปที่ราคา 95 บาท สมาชิกจะได้ราคาเพิ่มมากขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 5.14 เกรดตกไซส์ ปริมาณ 4954 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 38.74 บาท เมื่อเทียบกับราคาตลาด ทั่วไปที่ราคา 35 บาท สมาชิกจะได้ราคาเพิ่มมากขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 10.68 และเกรดผลแตก ปริมาณ 1065 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 10.07 บาท เมื่อเทียบกับราคาตลาด ทั่วไปที่ราคา 8 บาท สมาชิกจะได้ราคาเพิ่มมากขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 25.87

 

“ถึงแม้ว่ากลุ่มจะมีเพิ่งนำวิธีการประมูลมังคุดมาใช้ในรอบการผลิตฤดูกาลในปี 60 นี้ แต่ด้วยความเข้มแข็งของกลุ่มประกอบกับการทำมังคุดคุณภาพของสมาชิกทำให้การตลาดไปได้ดี กลุ่มก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การทำให้ผลผลิตออกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมากส่งผลให้มังคุดออกดอกติดผลลดลงทำให้ผลผลิตไม่สม่ำเสมอและมีขนาดไม่ได้มาตรฐาน ตรงนี้จากกลุ่มฯ และศพก.จึงได้มีการวางแผนร่วมกันที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวมังคุดในปีนี้ โดยจะมีการลงแปลงเกษตรกรที่มีปัญหาพร้อมกับแก้ปัญหาเป็นรายแปลงเพื่อเตรียมพร้อมกับการผลิตมังคุดในฤดูกาลถัดไปให้สามารถผลิตมังคุดให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวว่า