UN ร่วมองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก รณรงค์ต้านประมงผิดกฏหมาย

 

 

 

 

ซากอวนกว่า 640,000 ตัน ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 600 ปี ภัยคุกคามมหาสมุทร คร่าชีวิตวาฬ โลมา แมวน้ำ และเต่ามากกว่า 10,000 ตัวทุกปี องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกผนึกภาครัฐและอุตสาหกรรมรณรงค์แก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย

จากการประชุม UN Ocean Conference (วันที่ 5-9 มิ.ย.60) และ Seaweb Seafood Summit (วันที่ 5-7 มิ.ย.60)  รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมได้รับการเรียกร้องให้ตระหนักถึงซากอวนปริมาณกว่า 640,000 ตัน เทียบเท่ากับรถเมล์ 2 ชั้น ของกรุงลอนดอนถึง 52,000 คัน บางชิ้นมีขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอล ทำให้สิ่งมีชีวิตทางทะเลกว่า 817 สายพันธุ์ ได้รับผลกระทบจากขยะในทะเลเหล่านี้ โดยในแต่ละปีมีวาฬ โลมา แมวน้ำ และเต่ากว่า 10,000 ตัว ต้องมาติดในซากอวนต่างๆ เช่น แหจับปลา เบ็ดตกปลา และที่ดักปลาประเภทอื่น ที่ถูกโยนทิ้งไว้ในทะเลซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก โดยต้องใช้เวลาถึง 600 ปีในการย่อยสลาย สัตว์ที่ติดในซากเหล่านี้จะต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องทนหิวโหย เจ็บปวดเจียนตาย เป็นเวลานานหลายเดือน

 

 

ซากอวนจะถูกย่อยลงเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านอาหารทะเลที่เราบริโภค ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของปลาที่วางขายในประเทศอินโดนีเซีย และรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่ามีพลาสติกจากซากชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงซากอวนเหล่านี้ผสมอยู่ โดยซากเหล่านี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลในวงกว้าง และรัฐบาลต้องเสียเงินนับล้านเพื่อที่จะจัดการกับขยะเหล่านี้

 ในโอกาสที่ผู้นำด้านอุตสาหกรรมและผู้นำทางการเมืองรวมตัวกันในการประชุมสุดยอด 2 หัวข้อ ในช่วงต้นเดือนนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐบาลและผู้นำด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความต้องการเร่งด่วนในการกำจัดซากอวนที่คร่าชีวิตสิ่งมีชีวิตทางทะเล พร้อมเข้าร่วมโครงการ Global Ghost Gear Initiative (GGGI) กับองค์กรฯ

 คุณ Ingrid Giskes หัวหน้าฝ่ายแคมเปญ Sea Change องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) กล่าวว่า  "เราได้พบวิธีการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศแล้ว แต่ในระดับโลกนั้นเรายังต้องหาทางออกในการแก้ปัญหาซากอวนเหล่านี้ เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบและแก้ไขได้ ซึ่งคณะรัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้”    

 

    

 

"โครงการ Global Ghost Gear Initiative (GGGI) ของเรามีผู้ประกอบหารอุตสาหกรรมเข้าร่วมแล้วกว่า 80 ราย ได้นำนวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยขจัดซากอวนเหล่านี้ ให้หมดไปจากท้องทะเล และนำซากไปแปรสภาพเป็นเสก็ตบอร์ด และชุดว่ายน้ำ สิ่งที่เราอยากเห็นคือโครงการ GGGI มีความคืบหน้าไปอีกขั้น นำโดยคณะรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นเครือข่ายระดับนานาชาติที่ยั่งยืนและมีสมาชิกที่ตกลงร่วมกันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกจริงๆ และหาวิธีแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติในวงกว้างได้

 คุณ Ingrid Giskes กล่าวว่าโครงการ GGGI ได้นำเสนอคณะรัฐบาลถึงวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมาย 14 ข้อให้แก่ UN Sustainable Development Goal เพื่อลดปริมาณขยะในทะเล "เราหวังว่าจะมีผู้แทนจากคณะรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เข้าร่วมกับเราเพื่อร่วมลดจำนวนซากอวน และทำให้ท้องทะเลปลอดภัยมากขึ้นและสะอาดยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะนำไปสู่การสร้างพันธมิตรเพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์การจับปลาหรือการทิ้งอุปกรณ์การตกปลาในทะเล รวมทั้งสนับสนุนวิธีใหม่ๆ ที่จะป้องกันความเสียหายแก่อุปกรณ์การจับปลา และแนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการนำซากอวนเหล่านี้ออกจากท้องทะเล  ซึ่งจะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลจากอันตรายและยังปกป้องสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อีกด้วย

 

 

 "พันธมิตรของเรามีทั้งผู้แทนจากภาคอุตสากรรมการประมง ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา คณะรัฐบาล หน่วยงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และองค์กรเอกชน ผู้เข้าร่วมแต่ละรายนั้นมีบทบาทที่สำคัญในการกำจัดซากอวนในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งรวมทั้งต้องการความเชี่ยวชาญและความตั้งใจในการทำงานเหล่านี้ และสิ่งที่เราอยากเห็นคือบริษัทฟาสต์ฟู๊ดและอุตสาหกรรมการประมงมาเข้าร่วมกับเรา พร้อมกับคณะรัฐบาล แม้ว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู๊ดดูเหมือนจะไม่ใช่เป้าหมายหลักของโครงการนี้ แต่หากพิจารณาถึงเมนูยอดนิยมที่ทำจากปลาแล้ว บริษัทเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการประมงและมีความสามารถในการช่วยลดขยะในท้องทะเลได้"

 จากผลการรายงานของ ภัยคุกคามจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การละเว้นรายงาน และไม่ทำตามกฎระเบียบ (The threat of illegal, unreported and unregulated (IUU) fishing) แสดงให้เห็นว่าการทำประมงโดยผิดกฎหมายมีความสัมพันธ์กับซากอวนเหล่านี้ มีข้อสันนิษฐานว่าเมื่อชาวประมงทำประมงอย่างผิดกฎหมายจะก่อให้เกิดความกดดัน และส่งผลให้ชาวประมงทิ้งเครื่องมือการทำประมงลงในทะเล เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ให้เข้าท่าเทียบเรือ โดยพื้นที่ที่มีการทำประมงผิดกฎหมายนั้นสามารถพบซากอวนจำนวนมาก ทำให้องค์กรหลักซึ่งรวมทั้ง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รับทราบความสัมพันธ์ระหว่างซากอวนและกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้

 

 

 คุณ Ingrid Giskes กล่าวปิดท้ายว่า "มหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่ หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่เราต้องเผชิญคือการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าซากอวนเหล่านี้ถูกทิ้งอยู่ที่บริเวณใดในโลก ที่ที่มีการลักลอบทำประมงผิดกฏหมาย เพื่อมุ่งมั่นทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือเราต้องป้องกันไม่ให้ซากอวนถูกนำไปทิ้งในท้องทะเลเพิ่มขึ้น เราจึงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลแก้ไขปัญหาของการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการทิ้งอุปกรณ์การจับปลาลงท้องทะเล  เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทรัพยากรทางธรรมชาติจะได้รับการอนุรักษ์และรับรองอนาคตแก่อุตสาหกรรมนี้