ญี่ปุ่นต้นแบบเศรษฐกิจสมัยใหม่!

 

 

 

 

 

รมว.เกษตรฯ ย้ำแผนปฏิรูปสหกรณ์การเกษตรไทยให้เข้มแข็ง เล็งถอดบทเรียนสหกรณ์ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่พึ่งพาตนเองและสนองตอบนโยบายรัฐบาล

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือผู้บริหารและเยี่ยมชมการบริหารจัดการสหกรณ์การเกษตร ณ สหกรณ์การเกษตรฟุเอะฟุกิ จ.ยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุมหารือกับประธานสหกรณ์การเกษตรฟุเอะฟุกิ เยี่ยมชมโรงคัดบรรจุท้อ ศูนย์รวมผลองุ่น แปลงปลูกท้อ และโรงเรือนปลูกองุ่นพันธุ์ Shine-mascat  ว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการสหกรณ์การเกษตรฟุเอะฟุกิ โดยสหกรณ์แห่งนี้มีการควบคุมคุณภาพผลผลิต ให้การอบรมสมาชิก จัดส่งเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีผู้แทนเกษตรกรคัดเลือกผลผลิตที่มีคุณภาพที่ต้องขายให้สหกรณ์ ส่วนที่ไม่ได้คุณภาพจะส่งสหกรณ์ไม่ได้ ผลไม้บางส่วนสามารถนำไปขายที่อื่นได้ เช่น กรุงโตเกียว เป็นต้น 

 

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ

 

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า สามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรของไทยที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการอยู่ให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้นตามแผนการปฏิรูปภาคเกษตร โดยเน้นการพัฒนา 4 ด้านหลัก คือ  1.บุคลากรที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกร องค์กรเกษตรกร  2. พื้นที่ ทรัพยากรและ โครงสร้างพื้นฐาน 3. การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร 4. การวิจัยและพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม  นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี (ค.ศ. 2017 – 2036) และมีแนวทางพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งบริหารจัดการแรงงานภาคเกษตรและเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานอย่างเป็นระบบ รองรับสังคมเกษตรสูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญ

 

 

กระทรวงเกษตรฯ เน้นย้ำและให้ความสำคัญการพัฒนาระบบสหกรณ์อย่างมาก เนื่องจากจะเป็นกลไกสำคัญสามารถสร้างความเข็มแข็งให้แก่เกษตรกรทั้งคุณภาพชีวิต การผลิต การจำหน่ายสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น โดยเฉพาะสหกรณ์การเกษตรที่ปัจจุบันมีอยู่  3,585 แห่ง สมาชิก 6.3 ล้านคน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการจัดแบ่งกลุ่มเพื่อยกระดับชั้นสหกรณ์ตามแผนพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว รวมถึงสหกรณ์อื่นที่อยู่ในและนอกภาคเกษตรรวมกว่า 7,000 แห่ง สมาชิกว่า 11.4 ล้านคน ได้แก่  สหกรณ์นิคม 88 แห่ง สมาชิก 180,000 คน สหกรณ์ประมง  79 แห่ง สมาชิก 15,000 คน  สหกรณ์บริการ 1,122 แห่ง สมาชิก 480,000 คน สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,422 แห่ง สมาชิก 2.9 ล้านคน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 554 แห่ง สมาชิก 790,000 คน  และสหกรณ์ร้านค้า 152 แห่ง สมาชิก 640,000 คน พลเอกฉัตรชัย กล่าว

สำหรับสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่นซึ่งมีมาแล้ว 149 ปี มีสหกรณ์การเกษตรประมาณ 690 สหกรณ์ 4.6 ล้านคน ซึ่งขบวนการสหกรณ์ในญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาล  ซึ่งมีผลให้สหกรณ์สามารถปรับตัวกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้อย่างดี และกลายเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งสามารถพึ่งพาตนเองได้ จนมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางสหกรณ์การเกษตรภายใต้ขอบเขตของตนและสนองตอบนโยบายรัฐบาล และมีระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง

 

 

 

 

อาทิ  การแนะนำเทคนิคการผลิตทางด้านการเกษตรและวิธีการเพาะปลูกให้แก่สมาชิก ส่งเสริมและพัฒนาการจัดตั้งกลุ่มสมาชิกในแต่ละพื้นที่ทำการเพาะปลูก สอนเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพผลิตผล ลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เครื่องจักรและปัจจัยอื่น ๆ  การจัดซื้อวัตถุดิบและปัจจัยต่าง ๆ ในการผลิต รวมถึงเรื่องการตลาดโดยเกษตรกรสมาชิกจะมอบให้สหกรณ์ทำหน้าที่ขายผลิตผลของตนให้กับสหกรณ์โดยไม่กำหนดราคา เวลา และสถานที่ขาย เพราะการซื้อปริมาณมากจะสร้างอำนาจต่อรองสูงขึ้น รวมถึงระบบการประกันภัย การใช้อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เช่น เครื่องยก โรงคัดคุณภาพ  โรงบรรจุผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายแปลงใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการ เป็นต้น .

ที่มา : สำนักข่าวไทย