อานิสงส์โครงการของพ่อ

 

 

         

 

สืบเนื่องจากการที่โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา ได้มีโครงการวิจัยกาแฟอาราบิก้าเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2518 โดยโครงการหลวงได้สั่งพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสม ที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถต้านทานโรคราสนิม จำนวน 28 สายพันธุ์ ภายใต้ความร่วมมือจากกองวิจัยโรคพืชและชีววิทยา สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูงของภาคเหนือ

ประกอบกับ มีการจัดตั้งโครงการปลูกพืชทดแทนและพัฒนาเศรษฐกิจของชาวไทยภูเขา ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหประชาชาติ เป็นระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำพันธุ์กาแฟอาราบิก้า

 

 

          ต่อมาในปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรแปลงกาแฟที่ขุนวาง และทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทย เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น

           นับแต่นั้นเป็นต้นมากรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิม ได้นำพันธุ์กาแฟอาราบิก้าคาติมอร์ (Coffee Arabica cv. Catimor) จากศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ ประเทศโปรตุเกส (Coffee Rust Research Centre) จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ CIFC 7958 7962 และ 7963

 

 

โดยนำไปปลูกไว้ที่สถานีวิจัยกาแฟอาราบิก้า มูลนิธิโครงการหลวงแม่หลอด สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี จังหวัดเชียงราย สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จังหวัดตาก ทำการศึกษาวิจัยกาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิมสายพันธุ์คาติมอร์ CIFC 7963-13-28 จนได้พันธุ์กาแฟคาติมอร์ เชียงใหม่ 80” ในปี พ.ศ. 2550 ที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

 

 

           นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่1 (สวพ.1)  กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ได้คัดเลือกจากการผสมพันธุ์ H.W. 26/5 กับพันธุ์ SL28 โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ ได้ลูกผสมชั่วที่ 1 ในปี พ.ศ.2503 พร้อมได้ส่งไปปลูกคัดเลือกในประเทศต่างๆ ของแต่ละชั่ว และได้คัดเลือกในประเทศไทยในลูกผสมชั่วที่ 6 และ 7 ในปี พ.ศ.2527 จนถึงปี พ.ศ.2544 ได้สายพันธุ์ดีเด่นและนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ปลูกกาแฟทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และเพชรบูรณ์

 

 

กระทั่ง ได้รับพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2550 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2553 กรมวิชาการเกษตรได้ผลิตตันกล้ากาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ดังกล่าว เพื่อแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ และเอกชน จำนวน 2,258,212 ต้น ใช้เวลานับ 10 ปี ในการวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ จนได้ผลผลิตกาแฟเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟดอยคำ ดอยตุง และโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้มีพระเสาวนีย์ให้มีการปลูกบนพื้นที่สูง

 

 

          นอกจากนี้ ยังมีแหล่งปลูกและผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดอยช้าง ปางขอน สันเจริญ และห้วยฮ่อม ซึ่งในปัจจุบันกาแฟดอยช้างและดอยตุงก็เป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะในระดับโลก และได้รับการยกระดับเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Geographical Indication : GI) และมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่โครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ที่มั่นคง

 

 

            ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกกาแฟ การดูแลรักษา การผลิตและแปรรูปแบบครบวงจร ภายในสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงบ้านปางขอนและขยายผลสู่แปลงเกษตรกร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอาราบิก้า โดยจัดเป็นแปลงต้นแบบการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟอาราบิก้าที่มีอายุมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

 

          โดยพบว่าในปี พ.ศ.2551 เกษตรกรบ้านปางขอนสามารถผลิตกาแฟได้ 103 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 266 ตัน ในปี พ.ศ. 2557 คิดเป็นจำนวนเงินที่ขายสารกาแฟกว่า 30 ล้านบาท ทำให้มีรายได้เฉลี่ย 2.14 แสนบาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งแต่เดิมก่อนที่เกษตรกรจะเข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการขายกาแฟเพียง 5 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปี เท่านั้น

 

 

          นับเป็นความสำเร็จของโครงการผลิตกาแฟอาราบิก้าโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรบ้านปางขอน ที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่ ลดการทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ใช้พื้นที่ทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามแนวพระราชดำริ คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน