รวมพลคนรักช้าง "ปลูกพืช-ตรวจสุขภาพ"

 

 

 

ไทยเบฟนำทีมจิตอาสา ร่วมปลูกพืชอาหารช้าง บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ พร้อมกับตรวจสุขภาพช้าง 120 เชือก

             ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน และมีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ช้างไม่น้อยไปกว่าเรื่องใด ๆ  เพื่อสานต่ออนุรักษ์ช้างไทย โดยร่วมมือกับ มูลนิธิบ้านช้างการบินไทยสุรินทร์  นำพนักงานจิตอาสาในเครือไทยเบฟ กว่า 50 คน  ร่วม กิจกรรมจิตอาสาปลูกพืชอาหารช้าง และตรวจสุขภาพช้าง

พร้อมมอบเงินสนับสนุนค่าเวชภัณฑ์ โดยมี นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ ผู้อำนวยการส่วนวางแผน และพัฒนาธุรกิจ หัวหน้าศูนย์สวัสดิภาพช้าง และสัตว์ป่า องค์การสวนสัตว์ และนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล๊อต) สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ ให้เกียรติมาเป็นสัตวแพทย์นำทีมตรวจสุขภาพช้าง ณ ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 

 

 

ทันทีที่เหล่าจิตอาสาได้เดินทางมาถึงศูนย์คชศึกษา ต่างรู้สึกตื่นเต้นกับบรรดาช้างตัวเล็กตัวใหญ่ที่รอต้อนรับ และโชว์ความสามารถพิเศษให้ชมกัน ก่อนเริ่มกิจกรรมการปลูกพืชอาหารช้างในพื้นที่ 2ไร่ ของโครงการคชอาณาจักร วิทยากรได้มาให้ความรู้ถึงวิธีการปลูกพืชอาหารช้าง ถึงแม้อากาศจะร้อนสักแค่ไหน แต่เหล่าจิตอาสาก็มีความมุ่งมั่น ในการขุดดินสู้แดดกันอย่างไม่ย่อท้อลง 

อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน และเรียกรอยยิ้มให้กับเหล่าจิตอาสา นั่นคือ การเป็นลูกมือในการตรวจสุขภาพช้างให้กับ นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ และนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล๊อต) โดยจิตอาสาได้มีการแบ่งกลุ่มกันเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ลงทะเบียนสืบประวัติ  จิตอาสาจะถามชื่อช้าง รวมถึงควาญช้าง พร้อมถามถึงอาการและโรคที่ช้างมารับการรักษา ขั้นตอนต่อไปจิตอาสาจะช่วยคัดคิวช้างในการเข้าพบสัตวแพทย์ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอน การเตรียมเวชภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการใส่เวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาถ่ายพยาธิ ยาบำรุงร่างกาย และยาฆ่าเชื้อโรค ลงไปในกล้วยให้ช้างได้กิน และขั้นตอนสุดท้ายคือมีการแจกขนมและน้ำให้กับช้าง ควาญช้าง รวมถึงเด็ก ๆ ในหมู่บ้านใกล้เคียง โดยระหว่างการทำกิจกรรมสัตวแพทย์ทั้ง 2 ท่านได้มีการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับช้างไปพร้อมกันด้วย

 

 

คุณแววมณี โสภณพินิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพราะเราอยากมีส่วนร่วมในการดูแลช้างอย่างยั่งยืน ช้างถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยเรา นอกจากนี้การที่เราเน้นจัดกิจกรรมที่จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเรามีการร่วมมือกัน กับหมู่บ้านช้างที่ดูแลช้างจังหวัดสุรินทร์ ที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชอาหารช้าง โดยมีการจัดระบบบริหารจัดการที่ดี ทั้งระบบการจัดการน้ำ ในการดูและพืชอาหารช้างให้มีเพียงพอและมั่นคง ซึ่งการที่เรามาเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ ได้มาปลูกพืชอาหารช้างหลายชนิด ได้แก่ หน่อกล้วย อ้อย หญ้าเนเปีย นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเลี้ยงอาหารช้าง รวมถึงเป็นจิตอาสาช่วยนายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพและนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน ในการตรวจสุขภาพช้างอีกด้วย

ด้าน คุณวันชัย สวาสุ ผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์  เผยว่า กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับเรา ธรรมชาติของช้างนั้นกินพืชได้แค่บางชนิด โดยปกติช้างกินอาหารเยอะมากในแต่ละวัน เฉลี่ยแล้วช้างจะกินอาหารไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ช้างเค้ากินอาหารตลอดเวลาครับ โครงการเรามีการนำช้างกลับมาคืนถิ่นที่นี่ ทางเราก็อยากให้มีความยั่งยืนทางด้านอาหาร การที่ได้มีกิจกรรมนี้ขึ้นมาก็จะช่วยให้ช้างมีอาหารกินอย่างยั่งยืนครับ

            ขณะที่พนักงานจิตอาสาในเครือไทยเบฟ  อย่าง  คุณธันวา สีเสน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้พูดถึงประโยชน์ในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า การได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้รู้ว่าระบบนิเวศน์ของช้างเป็นอย่างไร มีการใช้ชีวิตร่วมกับคนอย่างไร เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยการเลี้ยงช้างเป็นระบบเป็นอย่างไร กว่าที่ช้าง 1 เชือกจะเติบโตเป็นอย่างไร ปกติกิจกรรมที่เป็นจิตอาสาเนี่ยไม่เคยทำ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก พอได้มาลงมือลงแรง ก็รู้สึกเป็นประโยชน์ให้กับหมู่บ้านและช้างมาก ๆ ครับ

            ด้าน คุณพีรญา ผดากุลพัชร เจ้าหน้าที่อาวุโส-ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม) บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ดีใจที่ บริษัทฯมีกิจกรรมแบบนี้ พอเปิดรับสมัครก็อยากที่จะเข้าร่วม เพราะช้างนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์อีกหนึ่งแบรนด์ของบริษัทแล้วก็ยังเป็นสัตว์คู่บ้านของเรา การที่เรามาช่วยตรงนี้ก็เหมือนช่วยให้ช้างที่อยู่กรุงเทพฯกลับมาคืนถิ่น นอกจากช้างแล้วก็ยังช่วยชุมชนให้เค้ามีอาชีพ เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นอีกด้วยค่ะ

 

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ 

 

         ศูนย์คชศึกษา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคน  และช้าง ที่สำคัญพื้นที่ศูนย์คชศึกษายังมีความผูกพันกับไทยเบฟฯ เพราะในปีพ.ศ. 2558 ไทยเบฟฯ ได้เข้าไปสร้าง โรงพักช้างให้กับพลายทองใบ บนเนื้อที่ 1 ไร่ ของหมู่บ้านช้างในรูปแบบประยุกต์ โดยปกติแล้วพลายทองใบจะมีนิสัย ขี้หงุดหงิด จึงต้องแยกโรงพักช้างเป็นการส่วนตัว แต่ครั้งนี้พลายทองใบได้ออกมาทักทายพร้อมให้เหล่าจิตอาสาร่วมถ่ายรูปด้วย สร้างความประทับใจให้กับจิตอาสาทุกคนได้กลับบ้านไปพร้อมกับรอยยิ้มและความอิ่มเอมใจเป็นอย่างมาก

          เพราะไทยเบฟฯ ตระหนักดีว่าหากไม่มีการอนุรักษ์ช้างแล้ว ในอนาคต ช้างอาจสูญพันธุ์หมดไปจากประเทศไทยได้ จึงขอเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ร่วมอนุรักษ์ช้างให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป