นำภูมิปัญญาเก่ากลับมาใช้ไล่ศัตรูพืชได้ผล!

 

 

 

 

ป็นไม้ผลอีกชนิดที่มาแรง น่าสนใจไม่น้อยสำหรับพุทรานมสด เพราะนอกจากไม่ค่อยมีโรคหรือศัตรูพืชมารบกวน ทิศทางตลาดยังไปได้ดี การปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายสิบปี ทั้งยังกำหนดให้ออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นผลไม้ที่น่าจับตามอง

         ดังที่ ไร่ชัยชนะ & ชลดา ของ พิชัย ดอนกลางเกษตรกรสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตัวจริง  แห่ง อ.วังนาเขียว จ.นครราชสีมา ที่ใช้พยายามเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตไม้ผลชนิดนี้จนสามารถปลูกเป็นอาชีพทำรายได้อย่างมั่นคง

          พิชัย เขาจบแค่ชั้น ม.6 แต่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการตลาดและการเกษตร จนสร้างจุดขายให้กับพุทราจากสวนของเขากลายเป็นผลไม้ที่ตลาดต้องการสูง มีลูกค้าให้การอุดหนุนไม่ขาดสาย

 

ไร่ชัยชนะ & ชลดา

       เมื่อก่อนปลูกผักสลัด และดอกเบญจมาศ แต่เพราะโลกร้อน ผักสลัดไม่ค่อยได้ผล ขณะที่เบญจมาศก็ต้องใช้สารเคมีเยอะ ต้นทุนแพง ร่างกายสู้ไม่ไหว เมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดิน นำพุทราไต้หวันพันธุ์ ซื่อหมี่มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เป็นพันธุ์ลูกใหญ่ให้ผลดก ก็เลยลองปลูกเริ่มแรกในพื้นที่ 3 ไร่ รวม 320 ต้น ลงทุนไร่ละ 9 หมื่นบาท ปีแรกๆมีปัญหามาก เพราะเจอแมลงวันทองเจาะข้างในผล ขณะที่รสชาติก็ไม่หวานกรอบ เลยคิดหาวิธีทำให้ผลผลิตขายได้ราคา พิชัย ย้อนอดีต

           จากปัญหานำมาซึ่งการเป็นพุทรานมสดซึ่งพิชัยบอกว่าเป็นสิ่งที่เขาได้ศึกษาหาความรู้จากตำราและการเข้าร่วมอบรมตามที่ต่างๆที่ทางภาครัฐจัดขึ้น ที่ให้ใช้นมสดรดต้นพุทราหลังออกผลในทุกๆ 10 วัน ซึ่งไร่อื่นๆจะใช้หางนม ทว่า ที่ไร่ของเขานั้น น้ำนมที่เขาเลือกใช้เป็นนมโคสดแท้ๆจากฟาร์ม ราคาต้นทุนลิตรละ 25 บาท

 

พิชัย ดอนกลาง

          “นำนมสดหมักกับกากน้ำตาล ใช้สูตรนมสด 60 ลิตร ต่อกาก น้ำตาล 30 ลิตร และจุลินทรีย์ 10 ลิตร หมักทิ้งไว้ 30 วัน หากต้องการนำมาใช้ ให้นำนมสดที่หมักแล้ว 1 ลิตรมาผสมน้ำ 10 ลิตร แล้วรดที่โคนต้น ซึ่งนมสดมีส่วนผสมของแคลเซียมจะช่วยให้ผลพุทรามีความแน่นกรอบ อร่อยพิชัย บอกสูตรการใช้นมสดแท้ๆ

          ส่วนเรื่องแมลงวันทองที่จะทำให้พุทราเกิดการเน่าใน เพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ จะใช้สารเคมีกำจัด แต่พิชัยไม่ใช้ เพราะสู้ต้นทุนค่ายาไม่ไหว เนื่องจากต้องฉีดพ่นทุกๆ 2 วัน และผลจากการใฝ่รู้เขาจึงใช้วิธีนำถุงพลาสติกมาห่อพุทราแทน และเพื่อให้แมลงรบกวนน้อยลง ได้นำภูมิ ปัญญาเก่ากลับมาใช้ นั่นคือ นำลูกเหม็นไล่แมลงสาบตามบ้านมาใช้ห่อผูกติดกับกิ่งพุทรา ซึ่งช่วยไล่แมลงได้ดีระดับหนึ่ง

 

 

          พร้อมบอกถึงเทคนิคการทำให้พุทราหวาน ด้วยการควบคุมจำนวนลูก ไม่ให้เกิน 50 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งปกติ 1 ต้น จะให้ผลผลิต ราว 100 กิโลกรัม โดยกรีดทิ้ง เช่น 1 พวง มี 4 ลูก ต้องกรีดเอา 2 ลูกตรงกลางออก เพื่อไม่ให้พุทราที่เหลือแย่งความหวานกัน

         การปลูกนั้น เขาบอกไม่ต้องขุดหลุมลึกมาก เอาแค่กลบดินในถุงเพาะได้ก็พอ ซึ่งต้นกล้าที่แนะนำคือที่ได้จากการเสียบยอดเพราะจะโตและให้ผลผลิตเร็ว ระยะการปลูก 5×5 เมตร 1 ไร่ปลูกได้ 64 ต้น

          การดูแล ระยะเริ่มต้นให้ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูง สลับกับสูตรเสมอ 15-15-15 ทุก 10 วัน ต่อเมื่อเข้าเดือนที่ 4 พุทราเริ่มออกดอก ให้เปลี่ยน เป็นสูตร 8-24-24  ทุกๆ 10 วันเช่นกัน จนกว่าจะเริ่มติดลูกจึงเปลี่ยน เป็นสูตร 0-0-60 พร้อมกับให้ปุ๋ยหมักนมสดเพื่อเพิ่มรสชาติให้พุทรามีความกรอบและหวานจัด

 

 

          ส่วนการให้ผลผลิตนั้นในปีแรกจะให้ผลผลิตอยู่ที่ต้นละ 20-30 กิโลกรัม ปีที่ 2 จะเพิ่มขึ้นเป็น 40-50 กิโลกรัม และปีที่ 3 เป็นต้นไปจะให้ผลผลิตมากถึงต้นละ 100 กิโลกรัม

         “พุทราเป็นพืชที่ปลูกง่าย ประมาณเดือนที่ 4 จะเริ่มติดดอก เดือนที่ 5 เริ่มติดผล และเดือนที่ 8 จะเริ่มเก็บผลผลิตขายได้

           ด้านราคาจำหน่ายหน้าสวนนั้น พิชัย บอกว่าด้วยพุทรานมสดผลิตผลจากไร่ของเขาปลอดสารเคมี จึงค่อนข้างทำราคาได้ดี โดยจำหน่ายที่กิโลกรัมละ 50 บาท ไร่หนึ่งๆเก็บผลผลิตขายได้ปีละ 3 ตัน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 5 ไร่ จึงสร้างรายได้เฉลี่ย8-9 แสนบาทต่อรอบการผลิต (8 เดือน)

          "พุทรานมสดลูกใหญ่ จำหน่ายกิโลกรัมละ 50 บาท และลูกเล็กกิโลกรัมละ 60 บาท เหตุที่ลูกเล็กขายได้ราคาดีกว่าลูกใหญ่นั้น เพราะลูกเล็กจะมีรสชาติหวานจัดและมีผลผลิตออกน้อย"

 

 

          อย่างไรก็ตาม พิชัย ยอมรับว่าแม้จะสร้างรายได้ที่ดี แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าของสวนด้วย เพราะถ้ามีการควบคุมคุณภาพผลผลิตเสมอต้นเสมอปลาย ปลอดสารเคมี นอกจากราคาจะดีแล้ว ก็จะมีพ่อค้ามาติดต่อซื้อถึงในสวนทุกฤดูกาลไป

          ส่วนท่านใดที่สนใจเทคนิคการผลิตพุทรานมสด หรือต้องการศึกษาดูงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ไร่ชัยชนะ & ชลลดาเลขที่ 2 ม.8 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หรือโทรศัพท์ถึงเจ้าของไร่ได้โดยตรงที่ 08-7239-2004 พิชัยยินดีให้ความกระจ่างกับทุกคน