นวัตกรรมช่วย“ลดต้นทุน”ชาวไร่มัน

 

 

         ม้มันสำปะหลังพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากเป็นอันดับ 4 รองจากยางพารา อ้อยและข้าว ทว่าที่ผ่านมากลับมีปัญหากระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้มาตรฐานโดยวิธีการใช้รถแม็คโคขุด จึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมันขึ้นมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อันเป็นผลมาจากดินที่แข็งกระด้าง ทั้งยังมีปัญหาในด้านแรงงานที่นับวันจะหายากและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว         

          เหตุนี้ทำให้ทีมนักศึกษา ปวช.ภาควิชาเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประกอบด้วย เกษม บุญสุข และสมพงษ์ ช่างเกรียน  ภายใต้การนำของ สมชาย ภู่เทศ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานได้ประดิษฐ์คิดค้นและต่อยอดผลงานนวัตกรรม “ผานขุดมันสำปะหลัง ดีทีอีซีขึ้นเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ลดความเสียหายในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการจ้างแรงงานอีกด้วย

 

สมชาย ภู่เทศ

 

         “นวัตกรรมชิ้นนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี2558 โดยทีมนักศึกษาปวส.ภาควิชาเครื่องกล เริ่มจากตัวผาน หลังจากนั้นมาปีนี้ (2559) ก็ต่อยอดอุปกรณ์เก็บผลผลิตเพื่อความสมบูรณ์ของชิ้นงาน โดยทีมนักศึกษา ปวช.3 ทำให้มีระบบการทำงานครบวงจรมากขึ้น จุดเด่นคือหัวมันจะลำเลียงขึ้นรถโดยไม่ต้องไปเก็บ ปกติพอขุดเสร็จเกษตรกรก็จะลงไปเก็บเอง ทำให้ช่วยลดขั้นตอนตรงนี้ไปได้ใน 1 ไร่ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยจะขุดหลังจากตัดต้นมันออกเรียบร้อยแล้ว

          อาจารย์สมชายให้ข้อมูลระหว่างนำผานขุดมันสำปะหลังมาจัดแสดงในงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อชุมชน ระดับภูมิภาค โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยนวัตกรรมชิ้นนี้จะมีโครงสร้างใบผานทำจากเหล็กกล้าออกแบบเป็นรูปครึ่งวงกลม สามารถลดแรงต้านของดินได้ดี เมื่อขุดหัวมันขึ้นมาจากร่องทำให้ดินแตกตัวไหลผ่านตะแกรงร่อนดิน ส่วนหัวมันจะถูกยกขึ้นจากดินตกลงด้านหลังของผานขุด ทำให้หัวมันไม่เกิดการเสียหายและเก็บได้ง่ายได้ผลผลิตครบ

 

 

Ads Bผานขุดจะทำมุมกับพื้นดิน 30 องศา ปลายผานขุดทั้งสองข้างเชื่อมติดกับแผ่นเพลทเหลี่ยมที่ใช้เป็นฐานเพื่อเชื่อมติดกับขา ผานขุดที่ทำจากท่อเหล็กสี่เหลี่ยมมีความยาว 0.40 เมตรทั้งสองข้าง ส่วนที่ปลายด้านบนเชื่อมติดกับแผ่นเพลทกลม เจาะรูเพื่อยึดเข้ากับโครงหางของรถไถ โดยผานขุดมันนี้มีน้ำหนักสุทธิ 100 กิโลกรัม กว้าง 1.10 เมตร ยาว 0.65 เมตร และสูง 0.50 เมตร มีความเหมาะสมกับร่องมันสำปะหลังสามารถลดความเสียหายของหัวมันสำปะหลังได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้นจากเดิมถึง 13.08% ในการเก็บเกี่ยวใช้ได้ดีในทุกสภาพดิน

          อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมยังยืนยันด้วยว่าจากการศึกษาความพึงพอใจของเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ อ.เดชอุดม ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลังก็พบว่าหลังจากนำนวัตกรรมชี้นนี้ไปใช้เกษตรกรมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดที่ค่าเฉี่ย 4.8 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 0.40  สำหรับต้นทุนการผลิตนวัตกรรมชิ้นนี้อยู่ที่ 4 หมื่นบาท การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดในงานวันนักประดิษฐ์ปี 2559 และขณะนี้มีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการหาบริษัทผู้ร่วมทุนเพื่อสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

 

          นับเป็นอีกนวัตกรรมเด่นของเด็กช่างที่สามารถนำมาช่วยภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในเรื่องการลดต้นทุนและการสูญเสียผลผลิตจากการเก็บเกี่ยว