“ก้ามแดง”เลี้ยงได้ต้องลงทะเบียนใน60วัน! 

 

การเลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครฟิช (เอเลียน สปีชีส์) ปัจจุบันมาแรงมากดังที่ ประทีป มายิ้ม อุปนายกสมาคมการค้ากุ้งก้ามแดง บอกว่ามีนับหมื่นราย แต่ด้วยชนิดนี้เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของพฤติกรรมว่าจะทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนในประเทศไทย ทางกรมประมงจึงยังไม่มีการรับรอง และไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงอย่างเป็นทางการ รวมถึงมีการห้ามนำเข้าอีกด้วย เพราะจัดอยู่ในประเภทสัตว์น้ำควบคุม

 

  ตรงนี้แหละ ที่ทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความสับสนว่า จะเลี้ยงได้หรือไม่ หรือจะเลี้ยงอย่างไรที่ไม่มีความผิด ล่าสุด "ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์" รองอธิบดีกรมประมง ยืนยันชัดเจนในงานสัมมนาเรื่องแนวทางส่งเสริมและการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอย่างไรให้ถูกกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยว่ากุ้งก้ามแดงเลี้ยงได้ กรมประมงไม่ได้ห้าม เพียงแต่ให้ไปลงชื่อและจดทะเบียนกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด

 

  สำหรับประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครย์ฟิช ต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ 2) ปี พ..2559 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 นั้น ระบุให้ผู้ประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดงหรือกุ้งเครย์ฟิช Procambarus clarkii หรือ Cherax spp.)ก่อนวันประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องแจ้งการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม

 

อีกทั้ง ผู้ที่เลี้ยงในบ่อดิน บ่อปูแผ่นพลาสติก หรือนาข้าว ต้องดำเนินการจัดทำที่กั้นบริเวณขอบบ่อโดยรอบ โดยจัดวางเป็นแนวเอียงเข้าหาบ่อ และมีความสูงตามแนวดิ่งไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการหลุดรอดของกุ้งออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ถ้าเลี้ยงในภาชนะที่ใช้เลี้ยงอื่นๆ เช่น ตู้กระจก กล่อง ลังพลาสติก กะละมัง ถัง ต้องมีที่ปิดมิดชิดสามารถป้องกันการหลุดรอด ส่วนเลี้ยงเล่นๆ ตัวสองตัว มีการส่งซิกว่าไม่ต้องแจ้งก็ได้

 

 

 

         ทั้งนี้ กฎระเบียบต่างๆ ท่านรองฯ จูอะดี บอกว่าย่อมเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีผลงานวิจัยออกมาชัดเจนว่าไม่กระทบต่องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมกฎระเบียบสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ตอนนี้ไม่ชัดเจน กรมประมงไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเหมือนปลาซัคเกอร์ที่อยู่เต็มในแหล่งน้ำธรรมชาติในปัจจุบันนั่นเอง!