ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่ ผ่านหลายโครงการ ใช้งบฯทั้งสิ้น 235,500 ล้านบาท

     รุงเทพฯ 5 พ.ค.-นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ ผ่านโครงการเราชนะ ,คนละครึ่ง เฟส 3 ,ม33เรารักกัน ,บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ,พักชําระหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 235,500 ล้านบาท โดยจะได้มีการนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า ประกอบด้วยมาตรการและโครงการต่างๆ ดังนี้     

     1.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน 

        1.1 โครงการเราชนะ กลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน เป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท

        1.2 โครงการ ม33 เรารักกัน กลุ่มเป้าหมายประมาณ 9.27 ล้านคน เป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาท 

        1.3 มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงว่าจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 

        - ค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้

         1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน ใช้ฟรี 90 หน่วยแรก

         2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้เกิน 150 หน่วย/เดือน ให้ส่วนลด ดังนี้

           - กรณีหน่วยใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟตามหน่วยการใช้จริง

           - กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ 

            1.ผู้ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยการใช้ไฟของใบแจ้งค่าไฟเดือนเมษายน 64 

            2.ผู้ใช้ไฟมากกว่า 500 หน่วย/เดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย/เดือน ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยการใช้ไฟของใบแจ้งเดือนเมษายน 64 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟใบแจ้งเดือนเมษายน 64 ในอัตราร้อยละ 50 

            3.ผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

         3) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ฟรี 50 หน่วยแรก

       - ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564 

    2.มาตรการระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 คลี่คลายลง กรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยจะขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกําหนดฯ ส่วนมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มที่จําเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

       2.1 โครงการเพิ่มกําลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 13.65 ล้านคน ด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) 

       2.2 โครงการเพิ่มกําลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเป้าหมาย 2.5 ล้านคน ด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะวลา 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564)

    3.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยให้ความสําคัญกับการกระตุ้นกําลังซื้อของประชาชน ในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ได้แก่ 

      3.1 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก เพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร ร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเสนอมาตรการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

      3.2 โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหารและเครื่องดื่ม และค่าบริการ กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาท/คน/วัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท/คน โดยเมื่อประชาชนใช้จ่ายดังกล่าว จะได้รับสนับสนุน e-Voucher จากภาครัฐ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และสามารถนํา e-Voucher ไปใช้จ่ายได้ในเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 31 ล้านคน

    4.มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

       4.1 มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 เป็นการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน และบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้าง หน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น และเกษตรกรรายย่อย หรือลูกจ้างภาคการเกษตร ที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.แห่งละ 10,000 ล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก)

       โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. พิจารณาจัดลําดับความสําคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม ระยะเวลาดําเนินงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเสนอมาตรการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

       4.2 มาตรการพักชําระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFs) ขยายเวลาพักชําระหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 64 ตามความสมัครใจ โดยการพักชําระเงินต้น เพื่อลดภาระการชําระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนําเงินงวดที่จะต้องชําระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดําเนินชีวิตประจําวัน หรือเพื่อประกอบธุรกิจช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยวิธีชําระหนี้ที่พักชําระจะต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจเกินควรเมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยกรณีที่ SFIs ได้พิจารณาพักชําระไว้ด้วย

      โดยให้ SFts พิจารณาจัดลําดับความสําคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคํานึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสําคัญ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือ SFls ตามความจําเป็นและเหมาะสม ในกรณีที่การดําเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือฐานะทางการเงินของ SFls

       ขอบคุณข้อมูล : สำนักข่าวไทย