กรมชลประทาน วางมาตรการรับมือน้ำเค็มรุกล้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน หลังสงกรานต์นี้

      ทม.10 เม.ย.- ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ช่วงวันที่ 14-18 เมษายน 64 จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง อาจส่งผลให้มีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน แต่เนื่องจากช่วงสัปดาห์นี้มีฝนตกทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งช่วยประหยัดปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มขี้น อันส่งผลดีต่อการควบคุมคุณภาพน้ำ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะการผลิตประปาของการประปานครหลวง (กปน.) กรมชลประทาน จึงได้วางมาตรการการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 80 ลูกบาศก์เมตร (ลบม.) ต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก อัตรา 25 ลบม.ต่อวินาทีต่อเนื่อง 

      นอกจากนี้ กรมชลประทานและการประปานครหลวงจะร่วมกันปฏิบัติการ Water Hammer Operation โดยกำหนดหยุดสูบน้ำเป็นระยะเวลา 2-4 ชั่วโมงในช่วงน้ำลดลง เพื่อให้มีปริมาณน้ำจืดมีมากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวไปให้ไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล และประสานงานกับสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ลดอัตราการสูบระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเพื่อควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกินมาตรฐานการผลิตประปา

      สำหรับแม่น้ำท่าจีน ได้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง รวมอัตรา 55 ลบม.ต่อวินาที ประกอบด้วย 1) ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) ปากคลองจระเข้สามพัน ในอัตรา 25 ลบม.ต่อวินาที ลำเลียงน้ำต่อเนื่องผ่าน ปตร.สองพี่น้อง อัตราไม่ต่ำกว่า 20 ลบม.ต่อวินาที ลงสู่แม่น้ำท่าจีน และ 2) ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.) ท่าสาร ในอัตรา 30 ลบม.ต่อวินาที ลำเลียงน้ำต่อเนื่องลงสู่แม่น้ำท่าจีน ผ่าน ปตร.บางปลา อัตราไม่ต่ำกว่า 25 ลบม.ต่อวินาที และช่วงวันที่ 14-18 เมษายน 2564 ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่ดูแลอาคารรับน้ำทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ให้ปิดการรับน้ำเข้าพื้นที่ เพื่อให้การป้องกันและควบคุมค่าความเค็มมีประสิทธิภาพมากที่สุด

       ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์