กฟก.เคาะแนวทางแก้หนี้เกษตรกร 5 หมื่นราย งบ 9,282 ล้าน ชงคลังพิจารณาก่อนเข้า ครม.

        ทม.- น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานฯ ได้มอบหมายให้ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ไปหารือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงบประมาณ เพื่อนำข้อมูลมายกร่างแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรมทั้งฝ่ายเจ้าหนี้-ลูกหนี้ โดยต้องไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง พร้อมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรด้วย  

       ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เม.ย 2564 กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เสนอแนวทางให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติ เลือกแนวทางให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทนเกษตรกร และรัฐบาลชดเชยเงินต้น ซึ่งจะใช้งบประมาณรวม 9,282 ล้านบาท แบ่งเป็น

      - กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทนให้เจ้าหนี้ เงินต้น 50% เป็นเงิน 4,641 ล้านบาท

     - รัฐบาลชดเชยเงินต้นให้เจ้าหนี้ 50% เป็นเงิน 4,641 ล้านบาท

     - ดอกเบี้ยตัดทิ้งทั้งหมด และ

     - ให้เกษตรกรลูกหนี้ต้องผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ให้ครบในระยะเวลา 5-15 ปี

     อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรสมาชิก 50,621 ราย โดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

      นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้เกษตรกรดำเนินการจัดการหนี้ได้ตามอำนาจหน้าที่ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ จำนวน 10,840 ราย 32,159 บัญชี มูลหนี้ 8.03 พันล้านบาท และเห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็นหนี้ NPA (เพิ่มเติม) จำนวน 33 ราย ยอดเงินรวม 39.88 ล้านบาท