กรมการข้าว แจ้งพบการระบาดเพลี้ยกระโดดในอีสาน/แนะวิธีป้องกัน-กำจัด/ส่ง จนท.ดูแลใกล้ชิด

       รมการข้าว - นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถาน การณ์แพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการข้าวได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ เร่งออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และประสานสำ นักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการรายงานของศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีพบว่า บ้านหนองไฮ ต.โนนกลาง อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดฯในพื้นที่ที่สำรวจ ประมาณ 10 ไร่ มีข้าวแห้งตายเป็นหย่อมๆ พบเพลี้ยกระโดดตัวอ่อน ตัวเต็มวัยในแปลงกว่า 500 ตัวต่อต้น เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้เร่งเก็บเกี่ยวแปลงที่เริ่มสุกก่อน และให้เกษตรกรฉีดพ่นสารไพมิโทรซิน เพื่อกำจัด ป้องกัน ทั้งแจ้งให้ผู้นำชุมชน เกษตรกรเฝ้าระวังพื้นที่ที่อาจจะเกิดการระบาดอย่างใกล้ชิด

        อธิบดีกรมการข้าว ย้ำถึงการป้องกันและควบคุมปริมาณเพลี้ยกระโดดฯ เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงนาสม่ำเสมอ หากพบให้รีบกำจัด ถ้าเกิดการระบาดให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันกำจัดของกรมการข้าว ทั้ง ไม่ควรขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดีดินเปียก เพื่อป้องกันการขยายประชากรของเพลี้ยฯ อย่างไรก็ตาม การป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดฯ แบ่งเป็น 3 ระยะ

      - ระยะก่อนข้าวตั้งท้อง เมื่อตรวจพบตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดฯ วัยที่ 1-2 จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น บูโพรเฟซิน อีโทเฟนพรอกช์ หรือไอโซโปรคาร์บ

       ระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง เมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดฯ 10 ตัวต่อกอ หรือ 1 ตัวต่อต้น และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบน้อยมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือไพมิโทรซีน โดยใช้อัตราตามคำแนะนำที่ระบุในฉลาก และปรึกษาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ และ

        ระยะข้าวใกล้เก็บเกี่ยว กรณีพบเพลี้ยกระโดดฯ ตัวเต็มวัยบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านให้ใช้เครื่องดูดแมลงล่อทำลาย หรือกับดักกาวเหลืองล่อทำลาย เพื่อลดจำนวนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะอพยพไปยังแปลงข้าวปลูกใหม่

        ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : ทีมประชาสัมพันธ์กรมการข้าว