กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งทำความเข้าใจเกษตรกร“งดทำนาปรังรอบ 2”เสี่ยงเสียหายสิ้นเชิง

       รุงเทพฯ -นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝนตกน้อยทำให้เจอปัญหาภัยแล้งถึงแล้งจัด อ่างเก็บน้ำต่างๆปริมาณน้ำเหลือน้อยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชช่วงฤดูแล้ง ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 1 บ้างแล้ว หากมีการปลูกอีกครั้ง (นาปรังรอบ 2) จะเกิดความเสี่ยงสูงที่จะขาดแคลนน้ำรุนแรง เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ทั้งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์จากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา

      ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอความร่วมมือเกษตรกร 14 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา งดปลูกข้าว ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ 14 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน ลำพูน บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ราชบุรี ระยอง สระแก้ว ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เกษตรกรควรพักนาและไถกลบฟางข้าว เพื่อเป็นปุ๋ย หรือเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน

       อธิบดีฯ กล่าวอีกว่า หากมีการปลูกข้าวช่วงนี้เกษตรกรจะประสบปัญหาศัตรูพืช โรคพืชเ เข้าทำลายได้ โดยศัตรูและโรคพืชสำคัญคือ โรคไหม้ข้าว มักพบช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง เพลี้ยไฟ พบทั่วไป โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานหรือในสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ซึ่งเป็นศัตรูข้าวที่ทำความเสียหายทั้งในพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ดอน จะมีชีวิตอยู่ได้ 20 วัน และทำความเสียหายให้กับนาข้าวเป็นบริเวณกว้างในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มักพบช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง  

       ส่วนประโยชน์ การพักนาไม่ปลูกข้าวต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลดีหลายด้าน ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เนื่องจากพืชยืนต้นตาย ลดปัญหาขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ ลดการสะสมโรคและแมลงศัตรูข้าว ด้วยปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนจะช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ลดต้นทุนผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไป กรณีมีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่นๆ เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ได้ กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วลิสง กลุ่มพืชสมุนไพร เช่น อัญชัน ตะไคร้ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรืองตัดดอก อโกลนีมา กลุ่มพืชผัก เช่น ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ผักกินใบ พืชหัว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักสด เห็ด เป็นต้น