กรมประมง แนะแนวทางซื้อ “ปลาตะพัด” ต้องขออนุญาต-ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เคร่งครัด

     รมประมง แนะแนวทางสำหรับผู้ที่จะซื้อ ปลาตะพัด ปลาที่อยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญา CITES และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ..2535 จะต้องปฎิบัติตาม ดังนี้
    1.ตรวจสอบที่มาก่อนซื้อ
    2.ผู้ขายจะต้องออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองให้กับผู้ซื้อทุกครั้ง!!
    3.ผู้ซื้อจะต้องนำหนังสือหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับจริง) มาดำเนินการขอใบอนุญาตกับกรมประมง หรือ สำนักงานประมงจังหวัดทุกพื้นที่
    ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ : กลุ่มคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำตามอนุสัญญา กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทร.02-561-2011

************

    ปลาตะพัด (Asian arowana, Dragon fish วงศ์ OSTEOGLOSSIDAE)   

    ชื่อวิทยาศาสตร์ Scleropages formosus  ( Muller and Schlegel, 1844 )

    ลักษณะ  : เป็นปลาน้ำจืดโบราณ ที่มีลำตัวเพรียวยาวและแบน ท้องเป็นสันแหลม เกล็ดมีขนาดใหญ่และหนา ที่ปลายขากรรไกรล่างมีหนวดขนาดใหญ่ 1 คู่ ปากมีขนาดใหญ่มาก มีหลากสีสัน เช่น ทอง แดง เขียว เป็นต้น

    อุปนิสัย  : กินแมลงเป็นอาหารหลัก เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกขนาดเล็ก  เช่น กบ เขียด วางไข่โดยตัวเมียอมไข่ในปาก ไข่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ใช้เวลาเป็นเดือนจึงฟักเป็นตัว และเลี้ยงตัวอ่อนในปากประมาณ 2-3 เดือน 

    ที่อยู่อาศัย  :  พบอาศัยอยู่ในลำธารน้ำไหลเอื่อยๆ บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และแม่น้ำลำคลองหลายสายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสตูล มักเป็นลำธารที่มีน้ำค่อนข้างขุ่นมีลักษณะเป็นกรดเล็กน้อย และท้องน้ำเป็นหินปนทราย

     เขตแพร่กระจาย  : พบตั้งแต่พม่าตอนล่าง ภาคใต้ของไทยตั้งแต่แม่น้ำตาปี ถึงสุมาตรา และบอร์เนียว และพบในภาคตะวันออกตั้งแต่ จ.ตราด ถึงแม่น้ำในชายฝั่งของกัมพูชา และปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม พบขนาดใหญ่สุด 60 เซนติเมตร

     สถานภาพ  : ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในประเทศไทย (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2540) และถูกคุกคาม (Vulnerable) ในประเทศอื่นๆ สูญพันธุ์แล้วจากภาคตะวันออกของไทย  

     สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์  : สาเหตุการคุกคามคือการจับมากเกินขนาด และการสูญเสียถิ่นอาศัยที่เป็นลำธารในป่าดงดิบราบต่ำ

     รูปแบบการใช้ประโยชน์และการค้า  : ใช้ประโยชน์ในรูปของปลามีชีวิต เพื่อเป็นปลาสวยงามที่มีราคาสูง และมีความนิยมมาก ลักษณะปลามีสีเหลืองทอง สีแดง หรือสีเขียว มากกว่าปลาที่มีสีน้ำเงิน ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเพาะพันธุ์ได้สำเร็จสามารถส่งออกจำหน่ายได้โดยฟาร์มที่ผ่านการรับรองจาก CITES ซึ่งสามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆได้ เช่น ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนในยุโรป และอเมริกามีความนิยมน้อย

      สำหรับประเทศไทยกรมประมงประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาตะพัดเขียว ในปี 2531 ส่วนฟาร์มเอกชนยังไม่ปรากฎรายงานอย่างเป็นทางการว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ ปัจจุบันในประเทศไทย มีฟาร์มที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

      กฎหมายคุ้มครอง : เป็นปลาที่อยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญา CITES และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ..2535 โดยห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการโดยมิได้รับอนุญาต ดังนี้

      1.ห้ามเก็บ กัก ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด

      2.ห้ามเพาะพันธุ์

      3.ห้ามครอบครอง

      4.ห้ามค้า

      5.ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ นำผ่าน

      ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      ขอบคุณข้อมูล-ภาพ  : ทีมประชาสัมพันธ์กรมประมง, วิกิพีเดีย