สอน.จับมือซีแพค รับซื้อ“ใบ-ยอดอ้อย”ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ สร้างรายได้เกษตรกรกว่า 17,000 ราย

      .อุตสาหกรรม – นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักกำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากมลพิษจากการเผาอ้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง หรือ PM 2.5 และควันที่เกิดจากการเผาอ้อย ทั้งยังยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยซีแพคในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCG จะเข้ารับซื้อเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการทำไร่อ้อย เช่น ยอดและใบอ้อย นำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมปูน ซีเมนต์ไทย ให้มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

       นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่ม เติมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะร่วมกันดำเนินงานเป็นระระเวลา 3 ปี โดย สอน.จะส่งเสริมสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงประสานชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่ 4 แหล่ง ได้แก่ อ.ท่าหลวง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี รวมเกษตรกร กว่า 17,000 ราย ในการจัดเตรียมพื้นที่กองเก็บก้อนม้วนเพื่อให้ส่งโรงงานแปรรูป คาดจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตัน และลดพื้นที่การเผาอ้อย ได้กว่า 1,713,208 ไร่ โดยซีแพคจะรับซื้อในราคา 200-1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กว่า 150 ล้านบาท พร้อมตั้งโรงงานแปรรูปใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนด้วย

      นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวปิดท้ายว่า บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) และ สอน.เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างรายได้ให้ชาวไร่อ้อย อีกทั้ง ช่วยแก้ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาอ้อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตฯซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจ เข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุมิตรา ศรีพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ 093 542 4594

      ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)