สสน.ชี้ภัยแล้งปี 64 วิกฤต ย้ำต้องวางแผนการใช้น้ำ งดสูบน้ำทำนาปรัง

         เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้จัดงาน "สื่อสารสถานการณ์วิกฤตน้ำประเทศไทยปี 2564" ที่ห้องบัญชาการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ของสถาบันฯ  เพื่อให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำประเทศไทย โดย ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2564 นี้ คาดการณ์ว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด
         ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า เหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติเกิดมา 2 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2562-2563 โดยเฉพาะภาคเหนือ มีฝนน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 17 ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีน้อย รวมถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

         "ทำให้ฤดูแล้งปี 2564 มีน้ำไม่เพียงพอต่อ การสนับสนุนการเกษตร ซึ่งภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงด ทำนาปรัง เพื่อให้มีน้ำสำหรับ การอุปโภค-บริโภค และ รักษาระบบนิเวศ ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบัน เกษตรกรได้ทำนาปรังแล้วมากกว่า 2.8 ล้านไร่ ทำให้ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองชลประทาน จนน้ำที่ต้องใช้ผลิตน้ำประปาหลายแห่งมีไม่เพียงพอ และเริ่มมีข่าวการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย"
         นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา น้ำเค็มเริ่มรุกเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก จนสูงที่สุดเท่าที่มีการตรวจวัดมาในรอบ 10 ปี บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี หรือปากคลองประปา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญของการประปานครหลวงที่ผลิตน้ำให้กับกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกทั้งหมด เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 เวลา 20.40 น. มีค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร นอกจากค่าความเค็มจะเกินมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาแล้ว ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตรด้วย ถึงแม้ปัจจุบันค่าความเค็มจะลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงสูง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย และการเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ โดยมีอิทธิพลของลมใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม ส่งผลให้น้ำทะเลเกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลพัดเข้าสู่อ่าวไทยตอนบน ระดับน้ำที่ตรวจวัดได้จริงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงสูงกว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ การยกตัวของระดับน้ำทะเลนี้ จะเสริมให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

         ที่ผ่านมา เราใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญมาช่วยผลักดันน้ำเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปีนี้ เขื่อนทั้งสองมีน้ำน้อยมาก พอสำหรับใช้ในลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น อาจมีน้ำเหลือพอที่จะผันมาช่วยฝั่งเจ้าพระยาได้เพียง 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็มอย่างปีที่แล้ว ที่ผันน้ำจากแม่กลองมาช่วยถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งภาครัฐโดยเฉพาะกรมชลประทาน เร่งแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยลดน้ำเค็มที่รุกตัวเข้ามา แต่การระบายน้ำยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะมีการสูบน้ำออกไปจากแม่น้ำ
         "หลักสำคัญในตอนนี้คือ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤต และไม่สูบน้ำไปจากแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่อน้ำกินน้ำใช้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ จนกว่าจะสถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ อาจจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติและอาจเกิดพายุฤดูร้อน" ดร.สุทัศน์ กล่าว

         ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภัยแล้ง ในปี 2562-2563 ชุมชนต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับสถาบันฯ  1,773 หมู่บ้าน ต่างรอดพ้นจากภัยแล้ง จากการสรุปข้อมูล พบว่าในขั้นแรก ชุมชนเข้าไปฟื้นป่าโดยการทำฝายเพื่อเพิ่มน้ำ จากฝายก็ทำต่อในเรื่องน้ำประปาภูเขา สามารถใช้เป็นระบบน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ชุมชนแก้ปัญหาโดยการดูแลอ่างเก็บน้ำ และทำเป็นระบบสระพวง ทำให้มีน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งการทำการเกษตรจะแตกต่างจากพื้นที่ราบ คือทำเป็นวนเกษตรหรือเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชุมชนสามารถแก้ปัญหาความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรวมกันเป็นทีมบริหารจัดการน้ำ
         ทั้งนี้หลายชุมชนมีความเป็นอยู่เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว คือมีกองทุนของตัวเอง เวลาเกษียณอายุหรือเวลาเจ็บป่วยจะมีเงินช่วยเหลือ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชน เอกชนและรัฐ ไม่ใช่รัฐทำฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างเช่น ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน เราเข้าไปฟื้นโดยการทดลองพื้นที่ 2,000 ไร่ เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพด และแทนที่จะปลูกป่าชุมชน เริ่มจากฟื้นฟูฝาย ฟื้นระบบแทงก์น้ำ แล้วปลูกกล้วยนำก่อน 7 เดือน จากนั้นปลูกถั่วดาวอินคา มะนาว มะละกอ ทุเรียน แล้วมี กสทช.เอา 4G เข้าไปในพื้นที่ ชาวบ้านสามารถขายผลผลิตผ่านออนไลน์เกิดธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่า ไม่มีการบุกรุกป่าและทำเป็นวนเกษตรและชุมชนไม่แล้งอีกต่อไป
         "ฤดูแล้งปีนี้อาจมีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ซึ่งภาครัฐพยายามประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง ซึ่งใช้น้ำปริมาณมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคชุมชน โดยงดการทำนาปรัง หันมาทำเกษตรวิถีใหม่ ส่วนคนเมืองต้องเริ่มวางแผนการใช้น้ำให้ประหยัดกันมากขึ้น" ดร.รอยล กล่าวในตอนท้าย