กรมการข้าว วอนชาวนา ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว งดเผาตอซัง ลดมลพิษ PM 2.5

     รุงเทพฯ - นายมนัส กำเนิดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังผจญกับปัญหามลพิษทางด้านฝุ่นละอองเรื่อยมา คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ที่มีสาเหตุมาจากควันท่อไอเสียจากรถยนต์ และการเผาไหม้ต่างๆ รวมไปถึงการเผาเศษวัชพืชทางการเกษตร ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผา ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก เกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ

      นายมนัส กล่าวอีกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเผาตอซังข้าว เนื่องจากเป็นวิธีกำจัดตอซังได้เร็วและใช้แรงงานน้อย เพราะสะดวกต่อการไถเตรียมดิน ทางกลับกันส่งผลให้โครงสร้างของดินเปลี่ยนแปลงเกิดการสูญเสียของน้ำในดิน อินทรียวัตถุและธาตุอาหารที่สำคัญ โดยจะทำลายจุลินทรีย์และแมลงที่เป็นประโยชน์ในดิน อีกทั้งก่อให้ เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่

       “ฟางข้าวและตอซังข้าว เป็นผลพลอยได้หลังจากการเก็บเกี่ยวและนำเมล็ดข้าวออกแล้ว ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย หากมีการไถกลบตอซังจะเป็นธาตุอาหารในดิน ทำให้ดินมีคุณสมบัติดีขึ้น มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามให้ผลผลิตดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งยังนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น อัดฟางข้าวเป็นก้อนจำหน่าย เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงโค ทำปุ๋ยหมัก วัสดุคลุมดิน ทำเยื่อกระดาษ เป็นต้น ด้านเส้นใยจากต้นข้าว ยังนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าในรูปของผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ ทั้งประยุกต์เป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน ใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ของตกแต่ง ของที่ระลึกอื่นๆ รวมทั้งสามารถสร้างสรรค์ศิลปะจากฟางข้าวในเชิงสัญลักษณ์ เช่น หุ่นฟางลักษณะต่างๆ เพื่อนำไปประดับตกแต่งสถานที่ หรือสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดึงดูดนักท่องเที่ยว และช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน ที่สำคัญยังสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้แก่ชาวนาคนในชุมชนด้วยนายมนัส กล่าวเพิ่มเติม

     ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : เว็บไซต์กรมการข้าว