ชป.10 วางแผนรับมือฤดูแล้ง ส่งน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก

         ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ปริมาณน้ำในคลองลดลงไปอย่างมาก แห้งตลอดคลองจนถึงเขื่อนพระราม 6 เพราะหลายอำเภอที่ใช้น้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักที่มีความยาว 134 กิโลเมตรที่มีน้ำผ่าน แต่ละอำเภอแต่ละแห่งก็ต้องการใช้น้ำในการผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้นายสุรัช ธนูศิลป์ พร้อมกับผู้อำนวยการโครงการต่างๆ ต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่จะดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มายังคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อลดปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น  
         พร้อมกันนั้นก็ให้ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาต่างๆในสำนักงานชลประทานที่ 10 ดำเนินการประชาสัมพันธ์พูดคุยกับเกษตรกรชาวนาผู้ใช้น้ำ ว่าปริมาณน้ำในปัจจุบันมีเหลือน้อย ขอให้งดการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้เอาไว้ก่อนที่จะถึงฤดูทำนาปีต่อไป ซึ่งในปัจจุบันความแห้งแล้งในฤดูแล้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในทุ่งเพาะปลูกต่างๆ ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าวในตอนนี้ จึงสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมากแก่เกษตรกร

 
         นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายอำพล ฤทธิ์มณี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา เจ้าหน้าที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา คลองเพรียว-เสาไห้ ประชุมซักซ้อมความเข้าใจ และวางแผนบริหารจัดการน้ำในคลองระพีพัฒน์
         โดยในการประชุมนั้นได้มีการรับฟังอุปสรรคการจัดสรรน้ำ และการวางแนวทางการใช้น้ำในคลองระพีพัฒน์ เพื่อให้การลำเลียงน้ำจากเขื่อนพระราม 6 ให้กับพื้นที่ในเขตอำเภอหนองเสือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นไปตามแผนในอัตราประมาณ 8 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ คุณภาพน้ำ และป้องกันการทรุดตัวของตลิ่งคลองระพีพัฒน์ พร้อมกันนั้นได้มอบแนวทางการชี้แจงสถานการณ์น้ำ การขอความร่วมมือ เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้วไม่ปลูกข้าวต่อเนื่อง

 
         ทางด้านนายเจษฎา ตงศิริ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม นายอุดร พรมปา หัวหน้าฝ่ายพิจารณาโครงการ นายทัศนัย ฉายา หัวหน้าฝ่ายสำรวจภูมิประเทศ ร่วมประชุมหารือ แนวทางการปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เนื่องจากระบบส่งนำอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว อยู่ในสภาพที่ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถสูบน้ำและไม่สามารถส่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจึงได้มีการร้องขอให้ทำการปรับปรุง ซ่อมแซม ให้สามารถใช้การได้ดีดังเดิม 
         นายอนุสรณ์  ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาเป็นผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ร่วมกับนายสุรศักดิ์ รังรองธานินทร์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ร่วมชี้แจงสถานการณ์น้ำ และร่วมรับฟังข้อเสนอของเกษตรกร "ทุ่งมหาราช" บริหารจัดการน้ำร่วมกันและ "ทุ่งบางกุ่ม" ที่ ลานเอนกประสงค์ วัดอุโลม อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
         "ในการประชุมร่วมกับเกษตรกรทุ่งมหาราชและทุ่งบางกุ่มเพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติร่วมกันในการนำน้ำที่ระบายเพื่อเกี่ยวข้าวจาก ทุ่งมหาราช เวียนกลับมาใช้กับนาข้าวของ ทุ่งบางกุ่ม โดยใช้อาคารชลประทาน ของ 3 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงราง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าวจากการทำนาปีและได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำเลี้ยงต้นข้าว" นายอนุสรณ์เล่า
         นายอนุสรณ์ เล่าต่อว่าทางสำนักงานชลประทานที่ 10 ยังคงดำเนินการชี้แจงสถานการณ์น้ำ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ขอให้ไม่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง เพราะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ นาข้าวเสียหายได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักมีจำกัด

 
         "ตามแผนการจัดสรรน้ำที่ ครม.เห็นชอบเมื่อ 3 พ.ย.63 สำหรับกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) อุปโภค-บริโภค 2) รักษาระบบนิเวศน์ คุณภาพน้ำ ป้องกันตลิ่งแม่น้ำ-คลองส่งน้ำทรุดตัว 3) สำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝน หากฝนทิ้งช่วงเกษตรกร ที่ใช้น้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ร่วมกันเพื่อให้น้ำเดินทางจากต้นน้ำ ผ่านไปยังจุดสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค 7 สาขา ท้องถิ่น 24 แห่ง รวม 31 จุดสูบน้ำรวมทั้งการประปาสาขาลพบุรี พระพุทธบาทที่อยู่ท้ายน้ำตามแนวคลองชัยนาท-ป่าสัก ไปประมาณ 100 กม." นายอนุสรณ์เล่าถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันของคลองชัยนาท-ป่าสัก 
         โดยต่อมานายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้เดินทางไปยัง ตำบลหัวสำโรง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีพบเกษตรกร เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำ แนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ต.หัวสำโรง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เนื่องจากเกษตรกร ตำบลหัวสำโรง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ทำนาปีล่าช้า โดยเกษตรกรได้ใช้น้ำจากคลองส่งน้ำ 8 ซ้าย แยกมาจากคลองส่งน้ำชัยนาท-อยุธยา กม.ที่ 60 
         ในปัจจุบัน ข้าวในแปลงนาบริเวณตำบลหัวสำโรงนั้นกำลังตั้งท้องออกรวง ทางสำนักชลประทานที่ 10 ได้ดำเนินการเพิ่มเครื่องสูบน้ำ ที่ต้นทาง สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองชัยนาท-อยุธยา และดำเนินการขุดลอกตะกอนดิน คลองชัยนาท-อยุธยา ความยาวรวม 1,500 เมตร เหนือปากคลองส่งน้ำ8ซ้าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำให้เร็วขึ้น อีกทั้งได้ขอความร่วมมือเกษตรกร ระหว่างทาง ช่วยกันลำเลียงน้ำมาทางท้ายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

         ต่อมานายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม พร้อมด้วยนายกมล ผาภูมิ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน นายชัยพิชิต วิทยาพาสุข หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 และนายณรงค์ศักดิ์ ชัยคงสถิตย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 เข้าร่วมประชุมการขยายระยะเวลาการสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสินาทร โอ่เอี่ยม นายอำเภอเมืองลพบุรี เป็นประธานในการประชุม ที่ หอประชุมอำเภอเมืองลพบุรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
         จากนั้นนายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายณรงค์ศักดิ์ ชัยคงสถิตย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 และเจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ชี้แจงสถานการณ์น้ำของคลองตาเมฆ ตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี โดยมีนายอำเภอดอนพุด กลุ่มผู้ใช้น้ำ ร่วมรับฟัง พร้อมทั้งขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากสำนักงานชลประทานที่ 10 และทางองค์การบริหารส่วนตำบลดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรีสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดำเนินการสูบน้ำในการช่วยเหลือนาปีล่าช้า

น.ส.นภาภัทร ทับทิมพราย รายงาน