วศ.ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีจัดการน้ำเสียจากการย้อมสีผ้าทอ

         กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดย ดร.อมรพล ช่างสุพรรณ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และคณะ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงการบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการย้อมสีสำหรับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้า โดยการพัฒนาเตาชีวมวลมลพิษต่ำสำหรับต้มสีย้อมผ้า ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย อย่างง่ายและประหยัด ในวันที่ 21 - 24 ธันวาคม 2563 โดยต้นแบบการศึกษาครั้งนี้ ในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดร้อยเอ็ด


         การดำเนินงานที่สำคัญ วศ.ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารมลพิษในน้ำทิ้ง ที่เกิดขึ้นจากกะบวนการการฟอกย้อม ได้แก่ สี ความเป็นกรด-ด่าง ความเน่าเสียของน้ำทิ้งในรูปของ บีโอดี และ ซีโอดี โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่การบำบัดน้ำเสียขั้นต้น เป็นการบำบัดด้านกายภาพ เช่น ของแข็งขนาดใหญ่ สี และ ความเป็นกรดต่าง วิธีการคือ การกรองด้วยตะแกรง การตักของแข็งหรือแผ่นฟิล์มที่ลอยอยู่บนผิวหน้า และการตกตะกอนด้วยสารคมี เป็นต้น ซึ่งจะมีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 50 - 60 การบำบัดน้ำเสียขั้นที่สอง ใช้กระบวนการทางชีวเคมี เพื่อบำบัดสารอินทรีย์ ที่ละลายอยู่ในน้ำเป็นปฏิกิริยาทางชีววิทยา ได้แก่ ระบบบำบัดแบบธรมชาติ ระบบบำบัดแบบเติมอากาศ และระบบบำบัดแบบไร้ออกซิเจน เป็นต้น ประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 80 - 90 ขั้นตอนสุดท้ายคือการบำบัดน้ำเสียขั้นสูง เป็นปฏิกิริยที่ใช้เป็นเคมี-ฟิสิกส์ เช่น การกรองด้วยเมมเบรน (Membrane filtration) การกรองด้วยถ่านกำมันต์ (Activated carbon filtration) เป็นต้น

         ทั้งนี้การจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สารมลพิษที่ปนเปื้อนในน้ำทิ้งจากกระบวนการฟอกย้อมถูกระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมทั้งแหล่งน้ำและดิน วศ.มุ่งเน้นการจัดการแบบครบวงจรในพื้นที่ ที่กำลังประสบปัญหาจริง พร้อมนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการจัดการและกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยวิจัยและพัฒนาวิธีการบำบัดน้ำทิ้งจากกระบวนการฟอกย้อม เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับสินค้า OTOP ให้ได้มาตรฐานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการส่งออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์บริการ