ธ.ก.ส.เดินหน้ามาตรการคู่ขนาน เปิดโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวฯ ฟรีดอก 5 ด./ดูเงื่อนไข หลักเกณฑ์

       รุงเทพฯ - นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย ว่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 ที่เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.และ 26 พ.ย.2563 ได้ เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม คุ้มค่ากับการผลิต และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเพื่อลดต้นทุนผลิตให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีผลิต 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯไปแล้วนั้น เพื่อเป็นการดูแลรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการภายใต้มาตรการคู่ขนานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย  1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว เปลือกนาปี ปีผลิต 2563/64 และ 2)โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่า เพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีผลิต 2563/64

      1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีผลิต 2563/64 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอกขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ เป้าหมาย การจ่ายสินเชื่อ จำนวน 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก ณ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่ง เจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ซึ่งข้าวเปลือกชนิดสีได้ตันข้าวต่ำกว่า 20 กรัม ไม่รับเข้าร่วมโครงการ และข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม) วงเงินสินเชื่อรวม 15,284 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่บัดนี้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 และภาคใต้ มีนาคม-31 กรกฎาคม 2564 กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับเงินกู้ โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ย โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้   

                1.ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 10,400-11,000 บาท/ตัน

                2.ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ตั้งแต่ 8,900-9,500 บาท/ตัน

                3.ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน

                4.ข้าวหอมปทุม 7,300 บาท/ตัน และ

                5.ข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน

      ทั้งนี้ - เกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท

               - สหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท

               - กลุ่มเกษตรกร แห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และ

               - วิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท

      2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 เพื่อช่วยให้สถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทช่วยดูดซับปริมาณข้าว เปลือกในตลาด โดยรวบรวมและรับซื้อข้าวจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป นำมาเก็บรักษาตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อรอการขาย หรือนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจะได้รับวงเงินกู้ตามศักยภาพ แผนธุรกิจ และไม่เกินวงเงินที่นายทะเบียนกำหนด ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2564 กำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ตามรอบธุรกิจแต่ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564 เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา ทั่วประเทศ หรือโทร Call Center 02 555 0555