ไบโอเทค สวทช. พัฒนาและถ่ายทอดข้าวเหนียว "พันธุ์หอมนาคา"

         กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ พันธมิตร พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียว "หอมนาคา" ขยายผลสู่เกษตรกร ในพื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการผลิตข้าวคุณภาพตรงตามพันธุ์
         เมื่อเร็วๆ นี้  ณ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง : ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการ ไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของ ไบโอเทค พร้อมด้วย ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา มูลนิธิรวมใจพัฒนา และนายธีรภัทร์ คำสม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด ลงพื้นที่ดูผลผลิตข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ที่พร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ภายหลังจากทีมวิจัย ไบโอเทค สวทช. และพันธมิตร ถ่ายทอดการผลิตเพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด นำเมล็ดพันธุ์จำนวน 400 กิโลกรัม แจกจ่ายแก่เกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่อ.ห้างฉัตร นำพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาไปปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นฤดูกาลแรก

         ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ไบโอเทค สวทช. โดย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้มีการทำงานร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยเน้นด้านการพัฒนาพันธุ์พืช และการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันไบโอเทค สวทช. เป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์แนวอณูวิธี (molecular breeding) กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ซึ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิต ผู้บริโภค และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเน้นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค สำหรับข้าวเหนียวหอมนาคา เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวใหม่ ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหนือข้าวเหนียวชนิดไม่ไวต่อช่วงแสงในปัจจุบัน เช่น ทนต่อน้ำท่วม ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้และขอบใบแห้ง มีความหอมและนิ่ม เป็นต้น นอกจากนี้ ไบโอเทค สวทช. ยังได้ทำงานร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนในแง่ของการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเอง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในแง่ของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เองอีกด้วย

         ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของ ไบโอเทค กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. นำความเชี่ยวชาญทางด้านจีโนมและเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ในกระบวนการคัดเลือก (Marker- Assisted Selection, MAS) เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้รวดเร็วและมีลักษณะตามความต้องการที่เกื้อกูลการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวของประเทศ เน้นไปที่ผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่พื้นที่ที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวนาปีหลายสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์เกษตรกร ล่าสุดทีมวิจัยพัฒนาข้าวเหนียวที่สามารถปลูกได้ตลอดปี (นาปี และนาปรัง) คือ ข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ "หอมนาคา" เป็นข้าวไม่ไวแสง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130–140 วัน ให้ผลผลิตสูง โดยผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือได้ผลผลิต 800–900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานได้ผลผลิตสูงถึง 700–800 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณสมบัติทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง นอกจากนี้ยังมีลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ขนาดต้นสูงปานกลาง ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ นอกจากนั้นแล้วข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ยังมีคุณสมบัติเมื่อนำไปหุงสุกจะนุ่มเหนียวและมีกลิ่นหอม โดยทาง ไบโอเทค สวทช. ได้ยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืช ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

         นายธีรภัทร์ คำสม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาจากไบโอเทค สวทช. กว่า 400 กิโลกรัม มาปลูกในพื้นที่อำเภอห้างฉัตร รวมจำนวนกว่า 58 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของสหกรณ์ห้างฉัตรฯ 8 ไร่ และกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ รวม 50 ไร่ โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกคาดว่าจะได้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี 10-15 ตัน เพื่อปลูกในฤดูถัดไป และข้าวเปลือก 20-25 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมมีเกษตรกรในพื้นที่ปลูกกันอยู่แล้ว

         "ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 มีข้อเสียคือ มีความไวต่อแสง ลำต้นสูงหักล้มง่าย และปลูกได้เพียงครั้งเดียวต่อปีเท่านั้น ขณะที่ข้าวเหนียวหอมนาคา มีลักษณะเด่นของพันธุ์ คือ ลำต้นเตี้ยแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น ลดค่าแรงคนในการเก็บเกี่ยว และปลูกได้ 2 ครั้งต่อปี ทนต่อโรคได้ดี ที่สำคัญจากการทดลองนำข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคาที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงทดลองมาลองหุงกิน ยืนยันได้ถึงคุณภาพของข้าว เพราะหุงสุกแล้วมีความนุ่มหอมไม่ต่างจากพันธุ์ กข6 ที่มีจุดเด่นเรื่องความหอมและนุ่มนาน"

         ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจสอบถามถึงพันธุ์ข้าวหอมนาคาจำนวนมาก เพราะเห็นถึงลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวที่มีลำต้นเตี้ย ไม่หักล้มง่าย และผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างดี ทำให้สหกรณ์ฯ เตรียมวางแผนขยายผลโดยจะถ่ายทอดให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดการผลิตจากทีมวิจัย สวทช. และเครือข่าย เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาไปปลูก เมื่อได้ผลผลิตแล้วมีแผนวางจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง ซึ่งเกษตรกรที่เป็นสมาชิกจำนวนหนึ่งสามารถนำข้าวมาสีที่โรงสีของสหกรณ์ฯ เพื่อจำหน่ายได้เลย โดยในเบื้องต้นวางจำหน่ายข้าวเปลือกราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม และข้าวสาร 35 บาทต่อกิโลกรัม
         ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด โทร.054-269062-3