ราคายางเฉียด 65 บาท กยท.เชื่อยังพุ่งต่อ/หนุนชาวสวนยางเลี้ยงปูนา สร้างรายได้เสริม

  

      กรุงเทพฯ 21.ต.ค.- นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ราคายาง (ณ วันที่ 21 ต.ค.63) ทะยานไม่หยุดเฉียดทะลุกิโลกรัมละ 65 บาท และคาดการณ์ว่ายังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดกลางรับซื้อยางของ กยท.เฉลี่ยทั้ง 3 ตลาด สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาดที่กิโลกรัมละ 64.97 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 บาท/กก. ซึ่งราคาใกล้เคียงราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยขณะนี้แผ่นดิบกิโลกรัมละ 59.59 บาท น้ำยางสด (DRC100%) กิโลกรัมละ 59 บาท และก้อนถ้วย (DRC 50%) กิโลกรัมละ 43 บาท จึงนับได้ว่าเป็นราคาสูงที่สุดรอบกว่า 3 ปี

       ทั้งนี้ จากที่คาดการณ์ไว้เชื่อว่าราคายางยังคงไปต่อได้อีก ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคามาจากเศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น 4.9% และแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ประเทศเพื่อนบ้านผู้ผลิตยางธรรมชาติ ประสบปัญหาพายุและปริมาณฝนเพิ่มขึ้นเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงตามไปด้วย

       จากสถานการณ์ราคายางพาราที่มีทิศทางค่อนข้างดี นับเป็นข่าวดีที่สร้างขวัญกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศได้ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวสวนยาง วรรณา สุวรรณขำ บ้านเลขที่ 98/1 ม.5 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่แม้จะประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงเวลาที่ผ่านมา  แต่เธอไม่ได้ไม่นิ่งนอนใจในการหารายได้เสริม โดยเธอเล่าว่า ราคายางที่ผันผวนต่อเนื่องหลายปี ทำให้มีปัญหาเรื่องรายได้ที่มาจากการทำสวนยางเพียงทางเดียว เธอจึงเริ่มมองหาอาชีพเสริมควบคู่ ด้วยการเลี้ยงปูนาในสวนยาง โดยเริ่มเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จำนวน 10 คู่ นำมาผสมพันธุ์ ต่อเมื่อแม่ปูท้องแก่พร้อมวางไข่จึงแยกบ่อเพื่อฟักเป็นตัว จากนั้นนำลูกปูมาอนุบาลเป็นเวลา 2 เดือน และนำไปเลี้ยงต่อในบ่อ อีก 2 เดือน ถึงจะคัดเลือกปูที่มีขนาดตามที่ตลาดต้องการขายได้ ในราคา 80-160 บาท ต่อกิโลกรัม อีกทั้งแปรรูปเป็นน้ำพริกปู ขายกระปุกละ 40-60 บาท ซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ นับเป็นเกษตรกรรายแรกของ จ.นราธิวาสที่เลี้ยงปูนาในสวนยาง

       วรรณา เธอบอกว่า ความสำเร็จครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินกองทุนพัฒนายางพารามาตรา 49 (3) จาก กยท.ในโครงการส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสวนยางพาราแบบผสมผสาน จำนวน 100,000 บาท ไปติดตั้งระบบน้ำโซล่าเซลล์ใช้ในสวนผสมผสาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต ทำให้สามารถเลี้ยงปูนาในสวนยางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

         "อาชีพการทำสวนยางพารายังคงสร้างรายได้ แต่เราไม่ควรพึ่งพาแค่ราคายางเท่านั้น มองหาโอกาสและลงมือทำ ต่อให้วันที่ราคายางพาราถูกลง เราก็ยังอยู่ได้คุณวรรณา กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

       ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)