เดินหน้าขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์

         นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังกล่าวมอบนโยบายและรับฟังบรรยายสรุปของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี (สวพ 4) อำเภอ สว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ว่าได้รับฟังในเรื่องของภารกิจการดำเนินงานและแผนการดำเนินงานในอนาคต โดยมีแผนสร้างและขยายเครือข่ายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ไปยังจังหวัดใกล้เคียง ทั้งปัจจัยการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ การตรวจรับรองการจัดทำแปลงมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ขับเคลื่อนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ในจังหวัดกลุ่มอีสานล่าง ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 1,000,000 ไร่ และได้รับฟังการรายงานปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลัง พร้อมเยี่ยมชมการผลิตชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในการกำจัดแมลง ศัตรูพืช การผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และสนับสนุนโครงการเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งได้เยี่ยมชมบูธจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์สว่างวีรวงศ์ กลุ่มผักอินทรีย์วิถีบุณฑริก และกลุ่มผักอินทรีย์สำโรง

         จากนั้นได้พบปะกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มันสำปะหลังอินทรีย์ ของนางสมพิศ นารัตน์ บ้านนาโพธิ์ อำเภอ พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ให้เครือข่ายผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ อีกทั้งมีแปลงต้นแบบ และนวัตกรรมการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต โดยเป็นต้นแบบการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองถึง 6 มาตรฐาน คือ Organic Thailand, NOP, EU Organic, China, Korea และ Jas และยังเป็นกลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลังอินทรีย์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดปี 2563 และได้รับรางวัลชมเชยในระดับภาค พร้อมชมการกำจัดวัชพืชด้วยผานในการไถกลบ และเยี่ยมชมโรงปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ
         รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของการทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและพื้นที่การเกษตร จะทำให้เกษตรกรที่สามารถผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ได้ตามมาตรฐาน จะได้ราคาตันละ 4,000 บาท ในขณะที่ผลิตมันสำปะหลังทั่วไปจะได้ราคาเฉลี่ยตันละ 2,500 บาท ราคาขายต่อตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.5 โดยมีประเทศคู่ค้าแป้งมันสำปะหลังที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเสริมสร้างความภาคภูมิใจและความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเกษตรกรผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์มีรายได้เพิ่มมากกว่าการผลิตในระบบทั่วไป เนื่องจากราคารับซื้อสูงกว่า 1.50 บาท/กิโลกรัม ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ เป็นเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบหนึ่งที่ได้การรับรองมาตรฐานอินทรีย์ Organic Thailand, NOP และ  EU organic พัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรสู่เกษตรกรมืออาชีพ สร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร จากเดิมผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ พื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดอุบลราชธานี คือ พิบูลมังสาหาร วารินชำราบ นาเยีย และสว่างวีระวงศ์ ปัจจุบันได้ขยายไปสู่เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มเป็น 3 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ รวม 16 อำเภอ เกษตรกร 965 ราย พื้นที่รวม 5,777 ไร่

         และขับเคลื่อนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ด้านพันธุ์ การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ การอนุรักษ์และบำรุงดินด้วยการปลูกปอเทืองระหว่างร่องปลูกมันสำปะหลัง การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ 3 (PGPR 3) การกำจัดวัชพืชด้วยผาลกำจัดวัชพืชแบบติดรถไถเดินตาม การให้ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิตอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์มีผลผลิตเฉลี่ย 4.5 ตัน/ไร่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยการผลิตมันสำปะหลังทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้ผลผลิต 3.5 ตัน/ไร่ มีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตรและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบมีการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกร และส่งเสริมการนำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน ได้นำลงสู่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางองค์ความรู้ที่ส่งถึงพื้นที่ และจะมีการอบรมเกษตรกรต้นแบบที่เป็นเครือข่ายการผลิตที่ศูนย์ฯ เพื่อนำไปปรับใช้และเป็นต้นแบบในพื้นที่

         นอกจากนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีแผนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอ มีการพัฒนาโรงปุ๋ยหมักเติมอากาศด้วยนวัตกรรมใหม่ให้สามารถลดเวลาในการหมักและพัฒนาให้สามารถผลิตปุ๋ยให้เพียงพอกับพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านปุ๋ยลงถึงร้อยละ 50 พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ด้านเครื่องจักรกล และเครือข่ายการใช้เครื่องจักรกล และมีเครือข่ายการผลิตชีวภัณฑ์ ตัวห้ำ ตัวเบียน เพื่อลดต้นทุนในการป้องกันกำจัดโรค และแมลง โดยเฉพาะใบด่างมันสำปะหลัง
         ทั้งนี้ เกษตรกรเริ่มกลุ่มปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ในปี 2559 โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เนื่องจากมีความต้องการแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์เพื่อจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา 20,000 ตันแป้ง ซึ่งต้องใช้พื้นที่การผลิตประมาณ 20,000 ไร่ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจึงร่วมบูรณาการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่รัศมีรอบโรงงานของบริษัทเป็นพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอพิบูลมังสาหาร วารินชำราบ นาเยีย และสว่างวีระวงศ์ จึงเกิดเป็น ROAD MAP การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของจังหวัดอุบลราชธานี และนำไปสู่แผนจังหวัดและแผนภาค ในปี 2561