กอนช.เตือน 27 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือพายุระลอกใหม่ ช่วงวันที่ 7-12 ตุลาคมนี้

       สทนช.- นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) ช่วงวันที่ 7-12 ตุลาคม พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังและดินถล่มในพื้นที่ 27 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ เลย ขอนแก่น และนครราชสีมา ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ชลบุรี และระยอง ภาคตะวันตก 4 จังหวัดได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล และเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำตะคอง ลำน้ำมูล และลำปลายมาศ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง กอนช.จะติดตามสถานการณ์พายุลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

      อย่างไรก็ตาม จากอิทธิพลของพายุ และร่องความกดอากาศต่ำ รวมถึงมาตรการเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 มีทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด คงเหลือ อ่างเก็บน้ำน้อยอยู่ 10 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคกลาง 1 แห่ง ลดลงไปถึง 21 แห่งเมื่อเปรียบเทียบ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% อยู่ถึง 31 แห่ง

      นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า แม้ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในภาพรวมจะส่งผลดีต่อน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้า แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายอ่างฯ ยังจำเป็นจะต้องมีการวางแผนการใช้น้ำที่เหมาะสมสอดคล้องในแต่ละกิจกรรมในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็เบาได้ใจระดับหนึ่งว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการจัดสรรน้ำของประเทศได้ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะประชุมสรุปผลการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 63/64 ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณาวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ก่อนเสนอคณะมนตรีมีมติอนุมัติเห็นชอบการดำเนินการพร้อมมาตรการรับมือก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งรองรับพื้นที่ที่อาจประสบปัญหาหากปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ