"FAO" เปิดตัวโครงการหมอดินนานาชาติ

         เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม สมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership หรือ GSP) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดงานเปิดตัวโครงการหมอดินนานาชาติ (Global Soil Doctors Programme) โดยมี ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP และประธานความมั่นคงอาหารโลก ร่วมกล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุม
         ทั้งนี้ ดร.ธนวรรษ กล่าวว่า หมอดินมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตร องค์ความรู้ของหมอดินเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการลงมือปฏิบัติจริงมาเป็นเวลานานและมีค่า ดังนั้น เกษตรกร/หมอดินคือครูที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรด้วยกัน ซึ่งหมอดินของไทยได้เรียนรู้ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่ และความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรในพื้นที่ของตนจนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์

         ขณะที่ ดร.บรรเจิดลักษณ์ จินตฤทธิ์ ผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอผลความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาในหัวข้อ "the legacy of Soil Doctors from Thailand" และกล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหมอดินเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการและปัจจัยการผลิตที่สำคัญแก่เกษตรกร พร้อมได้นำเสนอวิดีทัศน์ผลความสำเร็จของหมอดินอาสา (นายยวง เขียวนิล) ให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมชื่นชม

         สำหรับโครงการ Global Soil Doctors นี้ FAO เล็งเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่มี best practice ในการสร้างสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และระหว่างเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการร่วมมือแก้ไขปัญหาดินในภาคเกษตร สามารถสร้างผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ในการจัดการทรัพยากรดินสู่ความยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร โดย FAO ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมศึกษาดูงานการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาของประเทศไทย พร้อมทั้งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและการเกษตรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรไปศึกษาและแปลเพื่อจัดทำเป็นเครื่องมือและคู่มือสำหรับเกษตรกร อีกทั้งขยายผลโครงการเป็นเครือข่ายหมอดินระดับโลก เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เรียนรู้แลกเปลี่ยน และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจอยากเข้าร่วมโครงการ และชื่นชมการดำเนินงานของหมอดินอาสาของไทยอย่างมาก

         และนี่คือหนึ่งตัวอย่างโครงการดีๆ ของไทย ที่องค์กรระหว่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญและยอมรับในองค์ความรู้ รวมถึงบทบาทสำคัญของหมอดิน จนนำไปเผยแพร่และขยายผลในระดับนานาชาติ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุด

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม)