เตรียมตัวเผชิญภัยแล้ง : ลุ่มเจ้าพระยา-ลุ่มแม่กลอง

       ายุโนอึลที่พาดผ่านเข้าประเทศไทย ช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 นำเอาฝนตกหลายพื้นที่ น้ำท่วมร่วม 2.5 แสนไร่ และเพิ่มประมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดก็ตาม

       โดยรวมถือว่ายังไม่มากพอที่จะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าสถานการณ์น้ำของประเทศได้ เพราะปริมาณน้ำโดยรวมอยู่ที่ 35,153 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุรวม 70,926 ล้าน ลบ.ม. (รนก.) ทำให้ทุกหน่วยงานต้องพยายามเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด

        การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลดอัตราการระบายลง เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์  จากเดิม 6 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เหลือ 3 และ 4 ล้าน ลบ.ม./วัน ตามลำดับ

        แนวโน้มปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญภาวะแห้งแล้งหนักหนากว่าปี 2561-2563

        ยิ่งถ้าพุ่งเป้าไปที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างลงมาจนถึงภาคกลาง ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การรวม 3,607 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล 20 ก.ย.63)

       ถ้าไม่มีปาฏิหาริย์ในการเพิ่มเติมน้ำในช่วงเวลาที่เหลือก่อนสิ้นฤดูฝน 31 ตุลาคม 2563 นี้ ลำพังแค่การอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน่าจะมีปัญหาเสียแล้ว เพราะลุ่มเจ้าพระยาต้องมีปริมาณน้ำใช้การ รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5,400 ล้าน ลบ.ม.

       การประกาศงดทำนาปรังเป็นปีที่ 3 สำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะยังคงมีต่อไป ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นไม่ว่าภาคเหนือหรืออีสาน ทำนาปรังน้อยอยู่แล้ว

       ฉะนั้น ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาใหญ่ต่อเนื่องเรื่องข้าว เพราะผลผลิตน้อยลงทั้งนาปีและนาปรัง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยปริยาย

      ประเด็นหลักของกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ น้ำอุปโภคบริโภค

       เราเคยชินกับการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ด้วยการยืมใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง แต่ฤดูฝนปี 2563 ดูไม่เป็นใจเอาเสียเลย

       ปริมาณน้ำของเขื่อนศรีนครินทรและเขื่อนวชิราลงกรณก็ดีต่ำมาก โดยรวมของ 2 เขื่อน 15,919 ล้าน ลบ.ม.(ข้อมูล 20 ก.ย.63) จากความจุรวม 26,605 ล้าน ลบ.ม. (รนก.)  และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ (Lower Rule Curve) ทั้งคู่ โดยปริมาณน้ำใช้การรวม 2,642 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวของปี 2562 ร่วม 7,000 ล้าน ลบ.ม.

       ถ้าสถานการณ์น้ำของ 2 เขื่อนหลักยังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ย่อมส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคของกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะปีที่แล้วอาศัยน้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม. จากลุ่มน้ำแม่กลองแห่งนี้มาช่วยสนับสนุนน้ำดิบผลิตประปาและขับไล่น้ำเค็ม

       เป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีเอาเสียเลย

       ปรีชา อภิวัฒนกุล  เรื่อง-ภาพ