ประกันรายได้ 63/64 งบกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท/พืช 5 ชนิด-เกษตรกร 7.76 ล้านราย

       รุงเทพฯ 25 ก.ย.-นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานงานสัมมนาเดินหน้าประกันรายได้ปี 2 โดยเชิญตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 3,000 คน ร่วมรับฟัง ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ปีการผลิต 2563/64 ว่ายังคงพืชเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง พร้อมมาตรการช่วยเหลือคู่ขนาน ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกร 7.67 ล้านครัวเรือน ภายใต้วงเงินรวม 75,017.66 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินชดเชยส่วนต่างพืชเกษตรทั้ง 5 ชนิด 71,844.05 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการพืชดังกล่าว ซึ่งล่าสุดกรอบดำเนินการได้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีบ้างแล้ว บางพืชอยู่ระหว่างนำเสนอความเห็นชอบ ครม.อีกครั้งก่อนจะดำเนินการจ่ายส่วนต่างให้กับเกษตรกร โดยมีรายละเอียดและมาตรการช่วยเหลือคู่ขนานแต่ละโครงการดังนี้

       1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 คณะกรรมการ นโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบเมื่อเดือน ก.ค.63 วงเงิน 23,495.71 ล้านบาท อยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรีพิจารณา ราคาและปริมาณการประกันรายได้ ประกอบด้วยชนิดข้าว คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าว เปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ (บาท/ตัน) ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 4.5 ล้านครัวเรือน โดยต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจะเริ่มโครงการช่วงเดือน ก.ย.2563 จนสิ้นฤดูกาลผลิตเดือน พ.ค.2564 (1 ก.ย.63-31 พ.ค.64) ภายใต้การดำเนินงานเหมือนปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องกำหนดราคาเป้าหมายและปริมาณต่อครัวเรือน (ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน,ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน, ข้าวเจ้า 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน,ข้าวหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเหนียว 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน)

        มาตรการคู่ขนาน  คือโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลา 1-5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 15,284 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกร้อยละ 2.25 วงเงินจ่ายขาดค่าฝากเก็บฯ 2,250.00 ล้านบาท (ตันละ 1,500 บาท) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 สถาบันเกษตรกรรับภาระร้อยละ 1 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โรงสีรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อก ในเวลา 2-6 เดือน เป้าหมาย 4 ล้านตัน รัฐชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 63/64 ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 54,828.08 ล้านบาท

        2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 กนย. มีมติเห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้ฯ ระยะที่ 2 ระหว่าง ส.ค. 63-ม.ค.64 (ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.) วงเงิน 31,013.27 ล้านบาท เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯประมาณ 1.83 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 18 ล้านไร่ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป และเปิดกรีดแล้ว โดยมีราคาเป้าหมาย ได้แก่ (1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท (2) น้ำยางสด DRC 100% กก.ละ 57 บาท (3) ยางก้อนถ้วย DRC 50% กก.ละ 23 บาท โดยเจ้าของสวนได้ 60% คนกรีดได้ 40% การจ่ายเงินชดเชยเดือนละครั้งตั้งแต่ ส.ค.2563

        มาตรการคู่ขนาน โครงการกำกับดูแลด้านปริมาณ ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บ ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐระหว่าง ต.ค.62-ก.ย.65 โครงการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ (อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ) โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) เวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย. 63-31 มี.ค.67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูป (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) เวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57-31 ธ.ค.67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการ (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) ดำเนินงาน ม.ค.63- ธ.ค.64 และโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงิน 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาปี 65- 69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 3 (ไม่เกิน 600 ล้านบาท)

       3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ปี 2563/64

       กนป.มีมติเมื่อ 19 ส.ค. 63 เห็นชอบโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2564 ระยะเวลาดำเนินการ ม.ค.64-ก.ย. 64 วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท (อยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรีพิจารณา) ราคาและปริมาณสำหรับการประกันรายได้ ผลปาล์มทลาย (18%) กก.ละ 4 บาท ครัวเรือนละ ไม่เกิน 25 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 3.7 แสนครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องเป็นพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง จ่ายทุก 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2564 ถึง 15 ก.ย.2564

        มาตรการคู่ขนาน คือ การปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ กฟผ.รับซื้อ CPO ไปผลิตไฟฟ้า 360,000 ตัน ส่งมอบครบแล้ว และสำรอง 100,000 ตัน (ยังไม่ส่งมอบ) ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยกำหนดให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และให้ B7 และ B20 เป็นทางเลือก โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณ CPO ที่ถังเก็บน้ำมันปาล์มดิบ งบฯ 372.516 ล้านบาท การบริหารการนำเข้าโดย (1) กำหนดด่านศุลกากร (นำเข้าปกติ) : นำเข้าได้เฉพาะด่าน มาบตาพุด กรุงเทพ แหลมฉบัง (2) กำหนดด่านนำผ่าน : นำผ่านต้นทางที่ด่านกรุงเทพเพียงด่านเดียว ส่วนด่านปลายทางกำหนด 3 ด่าน ได้แก่ ด่านจันทบุรี (ไปกัมพูชา) ด่านหนองคาย (ไป สปป.ลาว) และด่านแม่สอด (ไปเมียนมา) นโยบายปาล์มยั่งยืน จัดทำร่าง พรบ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. โดย กษ.

       4.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64  ความคืบหน้าครม.มีมติเห็นชอบแล้ว วงเงิน1,912,210,245 บาท ระยะเวลาโครงการฯ 1 พ.ย. 2563-30 เม.ย.2565 ราคาและปริมาณประกันรายได้ กก.ละ 8.50 บาท ณ ความชื้น 14.5% ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯประมาณ 4.5แสนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร มีระยะเวลาเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.2563-31 พ.ค.2564 การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง งวดแรกวันที่ 20 พ.ย.63 และทุกวันที่ 20 ของเดือนจนถึง 31 ต.ค.2564

        มาตรการคู่ขนาน การบริหารจัดการการนำเข้า เอกชนให้นำเข้าช่วง ก.พ.-ส.ค. / อคส. นำเข้าได้ทั้งปี กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 : 3 แสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% แจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บ การตรวจสอบสต็อก โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดฯและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร ปี 2563/64 รัฐชดเชยดอกร้อยละ 3 วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 45 ล้านบาท โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดฯในการเก็บสต็อก ปี 2563/64 ระยะเวลา 2-4 เดือน รัฐชดเชยดอกร้อยละ 3 วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 15 ล้านบาท  

       5.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64  ครม.มีมติเหวันที่ 18 ส.ค. 63 วงเงิน 9,788,933,798.40 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย. 63 -31 พ.ค. 65 โดยราคาและปริมาณสำหรับประกันรายได้ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกิน ครัวเรือนละ 100 ตัน เกษตรกรผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมาณ 5.2 แสนครัว เรือน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 เม.ย.63-31 มี.ค.64 ต้องเป็นเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง ด้วยตนเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร และแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยว นับจากวันเพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง จ่ายตั้งแต่ 1 ธ.ค.63-30 พ.ย.64

         มาตรการคู่ขนาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ ดอกเบี้ยร้อยละ 6.50 ต่อปี เกษตรกรรับภาระร้อยละ 3.50 ต่อปี และรัฐชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 24 เดือน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสาปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท คิดดอกร้อยละ 4 ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระร้อยละ 1 ต่อปี รัฐชดเชย ร้อยละ 3 ต่อปี ไม่เกิน 12 เดือน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ในรูปแบบมันเส้น/แป้งมัน เพื่อดูดซับผลผลิตช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก วงเงิน 15,000 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกร้อยละ 3 ต่อปี ตามเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60-180 วัน

        สำหรับพืชเกษตรตัวอื่นๆนั้น กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลทุกตัว แต่ใช้ยาคนละขนาน อาทิ ผลไม้ มีมาตรการดูแลล่วงหน้า หาตลาดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือเนื้อหมู ทำให้เกษตรกรขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้ราคา โดยตรึงราคาเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท หมูปลายทางไม่ให้เกิน 150-160 บาท

        ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้ปีแรก (ปีผลิต 2562/63) รมต.พาณิชย์ ย้ำว่า มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 7.29 ล้านครัวเรือน วงเงินประกันฯ รวม 71,210 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์แล้ว 3.6 ล้านครัวเรือน จ่ายส่วนต่างแล้ว 58,313 ล้านบาท คิดเป็น 81.79%