"แพทย์แผนไทย" ชูผักผลไม้เสริมภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19

         กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมจัดนิทรรศการ กิจกรรมจิตอาสา "ชีวิตวิถีใหม่ใต้ร่มพระบารมี..เราสร้างไปด้วยกัน" เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2563 ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2563 ณ ท้องสนามหลวง โดยกลุ่มงานสื่อสารองค์กร กองวิชาการและแผนงาน ได้จัดแสดงนิทรรศการผักผลไม้ 3 กลุ่ม เสริมภูมิร่างกายป้องกันโควิด-19 รวมทั้งมีวิทยากรสอนสาธิตวิธีทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในแต่ละวัน ได้แก่ วันที่ 28 ก.ค. 63 สาธิตสบู่เหลวขมิ้นชัน, วันที่ 29 ก.ค. 63 สาธิตพิมเสนน้ำ, วันที่ 30 ก.ค. 63 สาธิตน้ำยาล้างจาน และวันที่ 31 ก.ค. 63 สาธิตแชมพูสมุนไพร เพื่อสร้างงานและสร้างอาชีพให้ประชาชนฟรี
         โดยนิทรรศการต่างๆ อาทิ การจัดแสดงผลการดำเนินงาน "อสม.เคาะประตูบ้าน ต้านควิด 19" ที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ, การดูแลสุขภาพจิตในสถานการณ์ โควิด 19 "เครียดได้คลายเป็น", การสร้างความรอบรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพในการสร้างเกราะป้องกันโรคโควิด 19 แบบฐานวิถีชีวิตใหม่, ความรู้เกี่ยวกับ "ขมิ้นชัน" ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีศักยภาพในการลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสโควิด 19, การจัดแสดงชุดตรวจภูมิคุ้มกันและการตรวจแบบ Rapid test รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ยาเสพติด การเลิกบุหรี่ บริการคัดกรองสุขภาพกายและสุขภาพจิตเบื้องต้น และสาธิตการสร้างงานสร้างอาชีพด้วยสมุนไพรไทย

         นอกจากนี้ ยังได้แนะนำผักผลไม้สมุนไพร 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน 2. กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง 3. กลุ่มที่มีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากรายงานการศึกษาภาพจำลองโครงสร้าง 3 มิติ (molecular docking) ของสารสำคัญจากสมุนไพรในการจับกับตัวรับไวรัสในทางเดินหายใจ (ช่วยป้องกันไวรัสเข้าเซลล์) และการจับกับโปรตีนที่จำเป็นต่อการเพิ่มจำนวนของไวรัส (ช่วยป้องกันการแบ่งตัวของไวรัส) ของนักวิจัยของประเทศจีน และ รวมทั้งแนะนำเมนูอาหารและน้ำตรีผลา เพื่อเสริมภูมิต้านทานของร่างกายช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส
         ทั้งนี้ ผักผลไม้และสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย คือ พลูคาวหรือผักคาวตอง เห็ดต่าง ๆ ซึ่งมีสารสำคัญคือเบต้ากลูแคน เช่น เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดออรินจิ เห็ดหลินจือ และตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม) รับประทานในรูปของน้ำต้มดื่ม นอกจากนี้ ผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ยอดสะเดา มะระขี้นก ฟักข้าว ผักเชียงดา คะน้า มะรุม ผักแพว มะขามป้อม หรือมีสารกลุ่มแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารเฟลโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี ยังช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันด้วย
         ผักผลไม้และสมุนไพรของไทยที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสารเคอร์ซีติน (quercetin) สูง ได้แก่ พลูคาวหรือผักคาวตอง หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล; ผักผลไม้ที่มีสารเฮสเพอริดิน (hesperidin) และรูติน (rutin) สูง ได้แก่ ผิวและเยื่อหุ้มด้านในเปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (citrus fruit เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า), กะเพรา มีโอเรียนทิน (orientin) เป็นสารสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์

         เปลือกส้มและใบหม่อนเป็นสมุนไพร 2 ในจำนวน 6 ชนิดของตำรับยาจีนที่ใช้ชงดื่มแทนน้ำชาป้องกันปอดบวมอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแนวทางของมณฑลหูเป่ย ส่วนเมนูอาหารไทยที่ขอแนะนำ เช่น เมี่ยงคำ ซึ่งมีมะนาวหั่นพร้อมเปลือกและหอมแดง นอกจากนั้น อาหารจำพวกแกงเลียง ยำ ต้มยำ ต้มโคล้งต่าง ๆ ที่ใส่หอมใหญ่ หอมแดง เห็ดชนิดต่าง ๆ และมะนาว จะให้ทั้งเคอร์ซีทิน เบต้ากลูแคน และวิตามินซี สำหรับเครื่องดื่มหรือน้ำสมุนไพรที่แนะนำคือ น้ำตรีผลา ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนี้ อาจนำผักผลไม้ที่แนะนำข้างต้นมาปรุงอาหารอื่นหรือทำเป็นเครื่องดื่ม หรือเพิ่มการรับประทานผักผลไม้สมุนไพรกลุ่มนี้ให้มากขึ้นในระยะนี้
         สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถเข้ารับบริการและชมกิจกรรมของกระทรวงสาธารณสุข (บูธ A14) ได้ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ฝั่งศาลฎีกา ใกล้กับจุดคัดกรองที่ 2 ระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 -18.00 น.