กรมพัฒนาธุรกิจฯ จับมือ ธ.ก.ส. กระตุ้นเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันขอสินเชื่อ

         เมื่อเร็วๆนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ลงพื้นที่ไปยังธนาคารต้นไม้บ้านหนองจิก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เพื่อชี้แจงถึงนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง และนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปต่อยอดทำการเกษตรหรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
         โดย น.ส.ปัทมาวดี บุญโญภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า ทาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธ.ก.ส. และกรรมการธนาคารต้นไม้ ได้ร่วมกันตรวจวัดและประเมินมูลค่าไม้ยืนต้นของเกษตรกรที่แสดงความประสงค์ขอใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ก่อนที่ ธ.ก.ส. จะมอบวงเงินสินเชื่อแก่เกษตรกร จำนวน 2 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 520,437.09 บาท โดยได้นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันจำนวนรวม 30 ต้น ได้แก่ ยาง 23 ต้น แดง 1 ต้น ประดู่ป่า 1 ต้น มะหาด 1 ต้น รกฟ้า 1 ต้น เสลา 1 ต้น และ พะยอม 2 ต้น
         อย่างไรก็ตาม กรมฯ และ ธ.ก.ส. ยังได้เตรียมลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ อ่างทอง พิษณุโลก เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 105,381 ต้น มูลค่ารวม 131,649,237.00 บาท  โดยเกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4944 สายด่วน 1570 www.dbd.go.th และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ

         ด้าน นายอดิเรก วงษ์คงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาชนบท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้ตามแนวทางพระราชดำริ "ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ปลูกไว้กิน ไว้ใช้ ไว้ขาย และรักษาสิ่งแวดล้อม ในที่ดินตนเองและชุมชน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกัน สามารถพึ่งตนเองได้ในระดับครอบครัว ชุมชน และเชื่อมโยงเครือข่ายระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ จนปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 6,848 ชุมชน โดยส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านต้นต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง แต่สิ่งที่เพิ่มเติม คือ สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคง ป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติของสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตทางการเกษตรและต้นไม้ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากอีกด้วย