สทนช.มือประสานสิบทิศ บูรณาการน้ำของประเทศ

สทนช.มือประสานสิบทิศ บูรณาการน้ำของประเทศ

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

     ได้รับความร่วมมือดีจากทุกหน่วยงาน เป็นคำสรุปสั้นๆ จาก ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

      คนละโมเมนต์กับก่อนหน้านี้

      อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องใหม่ระหว่างผู้คุมนโยบาย (Regulator) ด้านน้ำ กับหน่วยงานปฏิบัติ (Operator) กว่า 40 หน่วย ต่างมีพื้นที่หน้าตักตัวเอง มีกฎหมายของตัวเอง และมีเส้นแบ่งขององค์กร

      ลำพัง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แม้จะให้อำนาจ อันเป็น พระเดชแก่ สทนช. โดยตรงก็ไม่อาจคุมความเฮี้ยวของหน่วยงาน Operator ได้หมด

       แต่เมื่อ สทนช. เล่นบท อำนวยการอันเสมือน พระคุณทำให้ Operator ทั้งเฮี้ยวไม่เฮี้ยวทั้งหลาย ต่างยอมสามัคคีธรรมร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วยดี

       พระคุณนั้น ก็เป็นผลพวงจากการจัดระเบียบใหม่ของพระเดชจาก พ.ร.บ.น้ำ  ใครจะไปพัฒนาแหล่งน้ำที่ไหน อย่างไร  จะใช้แหล่งเงินงบประมาณที่ไหนอย่างไร ต้องผ่านด่าน สทนช. ทำหน้าที่คัดกรองโครงการก่อน เหมาะสมไหม ซ้ำซ้อนไหม เอางานคนอื่นไปทำไหม งบประมาณโอเวอร์ไหม และ ฯลฯ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องมีคนแสดงอาการขัดขืน

       ทว่า สทนช. ยุคนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ คุมบังเหียนแทนก็สามารถจัดระเบียบการบริหารจัดการน้ำได้ มีกรอบกติกาใหม่เกิดขึ้นที่ไม่อาจปฏิเสธได้

       ตรงนี้เอง พระคุณจึงเข้ามาบูรณาการ ทั้งแผนงานโครงการ งบประมาณ จะลงตรงไหน แหล่งเงินกองไหน ถ้าถูกต้องแล้ว สทนช. นี่แหละจะเป็นทั้งฝ่ายชงและขับเคลื่อนให้พร้อมมูล ลงเอยด้วยผลสำเร็จ น้องๆ สโลแกนพี่นี้มีแต่ให้

      โดยเฉพาะงบกลางที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนยามวิกฤติ ก็ได้โครงการน้ำนี่แหละเป็นตัวสร้างประโยชน์แก่พื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก

      เรื่องน้ำ อย่าโฟกัสเฉพาะกรมชลประทาน หากต้องมองแผ่ออกไปหลายมิติ อาทิ

      หน่วยงานน้ำฟ้า อย่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา  สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นต้น

      หน่วยงานน้ำท่า อย่างกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า กรมประมง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น

      หน่วยงานน้ำบาดาล อย่าง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และสองหน่วยงานการประปา เป็นต้น

เป็นขอบข่ายหน้างานครบวงจร ตั้งแต่น้ำบนฟ้ายันผืนหล้าและใต้บาดาล เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์น้ำ 6 ข้อได้ถ้วนทั่ว

     ไม่น่าหนักใจมากเป็นอีกคำตอบเมื่อถามถึงสถานการณ์น้ำจาก 1 มกราคม 2563 ถึง กลางมิถุนายน 2563 เพราะฝนไม่ทิ้งช่วงนานเหมือนปี 2562 ไปวัดดวงปริมาณน้ำท่าอีกครั้งตอน 3 เดือนสุดท้ายของฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) ในกรณีน้ำมากก็เตรียมการบรรเทาปัญหาไว้ล่วงหน้าด้วยสารพัดวิธีและการใช้งบกลางทำทั้งป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขน้ำแล้งระดับหนึ่ง

      การบริหารน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติตอนนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ 3 เดือนสุดท้ายของฤดูเช่นกัน ถ้าฝนมาน้อยมากน้ำในเขื่อนที่บริหารด้วยความประณีตก็จะเป็นตัวช่วย ถ้าปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 5% ก็จะไม่เหนื่อยนักจากมาตรการที่เตรียมไว้แล้ว

      น่าจะเป็น Regulator ประสานสิบทิศหน่วยงานแรกของประเทศ