เริ่มฤดูฝนปีนี้ ดีกว่าปี 62 ต้องระวังฝนทิ้งช่วง-น้ำหลากท่วม/มาตรการรับฝนปี 63

เริ่มฤดูฝนปีนี้ ดีกว่าปี 62 แต่ต้องระวังฝนทิ้งช่วง-น้ำหลากท่วม

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

     เริ่มต้นสตาร์ทฤดูฝน 2563 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา มีฝนตกลงกระจายดีกว่าปีที่แล้วที่มีสภาพแล้งต่อเนื่องค่อนข้างชัดเจน

     ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพายุจร คือไซโคลนอำพัน จากมหาสมุทรอินเดีย แต่พื้นที่รับอิทธิพลไซโคลนจำกัดแถบภาคตะวันตก อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจน บุรี และตาก รวมถึงจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้ฝนมากบ้างน้อยบ้าง อีกส่วนมาจากลมประจำปี คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากมหาสมุทรอินเดียเช่นกัน ส่วนใหญ่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

     เมืองขอนแก่นน้ำท่วม มุกดาหาร อุบลราชธานี ตกนานได้น้ำได้เนื้อ ภาพรวมได้น้ำพอสมควร แต่อย่าหลงว่าฝนตกกระจายถ้วนทั่วทั้งประเทศ ในภาพย่อย บางอำเภอ บางจังหวัด ยังไม่มีฝนตกเลย อยู่ในสภาพแล้งและร้อน คงต้องอดทนรอต่อไป ขณะที่บางพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำ เช่นพื้นที่ภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปกติเคยอาศัยน้ำบ่อตอกบ่อตื้นทำนาล่วงหน้าก่อนฤดูฝน ใช้น้ำบ่อจนน้ำแห้ง ต้องขุดรื้อให้ลึกลงไปไม่น้อยกว่า 12 เมตร

    อาจมีฝนดีในบางพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ เริ่มทำนากันได้ แต่ที่น่าห่วงคือระยะฝนทิ้งช่วง ตั้งแต่มิถุนายนถึงกลางกรกฎาคม ช่วงนั้นอาจต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนชลประทาน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยา กรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าว

      น้ำสำรองระยะฝนทิ้งช่วงเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ สทนช.รับรู้ และวางแผนแก้ปัญหาโดยให้เขื่อนเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดและสำรองเผื่อไว้ 2-3 เดือนสำหรับระยะฝนทิ้งช่วง เนื่องจากความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

      “พ้นจากระวังฝนทิ้งช่วงแล้ว เรายังต้องระวังช่วงน้ำหลาก ตั้งแต่สิงหาคม-กันยายน-ตุลาคม ซึ่งมีปริมาณฝนมาก

      ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เสนอ 8 มาตรการเตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูฝนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม การปรับแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องน้ำต้นทุน การจัดทำเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ  การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ  การสำรวจแม่น้ำคูคลอง ขุดลอกและกำจัดผักตบชวา การเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ การสร้างความรับรู้ และการประชาสัมพันธ์

      ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำไม่อาจพึ่งปัจจัยธรรมชาติจากฝนโดยตรงเพียงอย่างเดียว หากต้องใช้ปฏิบัติการฝนหลวงของกรมการบินฝนหลวงและการเกษตร ซึ่งปฏิบัติการบินต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูแล้ง 62/63 ส่วนช่วงฤดูฝนนี้ยังคงขึ้นบิน เพื่อเพิ่มปริมาณฝนเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ในลุ่มน้ำต่างๆ อาทิ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา ลำตะคอง ศรีนครินทร์ กระเสียว อุบลรัตน์ ประแสร์  แก่งกระจาน ปราณบุรี รัชประภา บึงบอระเด็ด เป็นต้น