เร่งผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

เร่งผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล
รองรับพื้นที่อีอีซี มาบตาพุด-พัทยา
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล


         ฤดูแล้งปี 2563 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
         แผนบริหารจัดการน้ำเดิมของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีศักยภาพ เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำเดิม การสูบและผันน้ำให้ภาคเอกชน จัดหาแหล่งน้ำเข้าระบบและรวมทั้งผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination)
         คร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพการจัดการน้ำในพี้นที่อีอีซีในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง มีการปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดลงในคลองวังโตนด จ.จันทบุรี สูบเข้าอ่างฯ ประแสร์ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพานขึ้นสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ 0.15 ล้าน ลบ.ม./วัน
         อ่างฯ หนองปลาไหล จ.ระยอง ผันน้ำจากอ่างฯ ประแสร์ ลงอ่างฯ หนองปลาไหล 0.60 ล้าน ลบ.ม./วัน สูบผันน้ำจากอ่างฯ คลองใหญ่ ลงอ่างฯ หนองปลาไหลเพิ่มเติม 3 ล้าน ลบ.ม. นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุดใช้น้ำจากคลองหู เพื่อลดการใช้น้ำอ่างฯ หนองปลาไหล 0.05 ล้าน ลบ.ม./วัน
         อ่างฯ บางพระ จ.ชลบุรี สูบผันน้ำจากอ่างฯ คลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี 4.8 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำจากอ่างฯ นฤบินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ลงแม่น้ำบางปะกง แล้วสูบผันน้ำไปลงอ่างฯ บางพระ 0.18 ล้าน ลบ.ม./วัน

         นอกจากนั้น ยังหาซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้าระบบ 7 ล้าน ลบ.ม. ลดการใช้น้ำในพื้นที่และนิคมอุตสาหกรรม 10% และลดการใช้น้ำจากโรงไฟฟ้า
         "ถึงกระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงความไม่แน่นอนของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ที่ยังมีความเสี่ยงบางโครงการ ทำให้ สทนช. ต้องเร่งปรับแผนการบริหารจัดการน้ำพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดให้เร็วขึ้น" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว
         โดยในส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 13 โครงการได้ขยับให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เช่น โครงการก่อสร้างอ่างฯ คลองวังโตนด จ.จันทบุรี อ่างฯ คลองโพล้ จ.ระยอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทบทวนแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรีเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรมควบคู่กันไปด้วย
         ขณะเดียวกัน เร่งรัดโครงการผลิตน้ำจืด โดยสะกัดเกลือจากน้ำทะเล (Desalation) เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดเข้าระบบ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ สทนช. และ สกพอ. ศึกษาวิจัยโครงการผลิตน้ำจืดดังกล่าว

         ทั้งนี้ กำหนดพื้นที่ดำเนินการ 2 แห่ง ประกอบด้วย มาบตาพุด และพัทยา กำลังผลิตน้ำจืด 70 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรตามลำดับ โดยคาดว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้เอกชนลงทุนในรูปสัมปทาน
         "เริ่มดำเนินการศึกษาทันทีในปี 2563-2564 คาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ภายในปี 2565" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
         นอกจากนั้น การผันน้ำนอกพื้นที่เข้าสู่อีอีซี สทนช. ยังมีแนวคิดว่า น่าจะกำหนดมาตรการการสูบและผันน้ำเพิ่มเติม มากกว่าดำเนินการแค่ในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียว เพราะการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นปัญหาใหญ่ ที่ผ่านมา สทนช. เองปรับการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้อยู่เช่นกัน ทั้งในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ตลอดจนระบบการเพาะปลูกอยู่แล้ว เพื่อให้เห็นถึงมาตรการบริหารจัดการทั้ง 2 ด้าน คือเพิ่มปริมาณน้ำในระบบ ขณะเดียวกันลดการใช้ลง
         ภาพการเคลื่อนไหวของแผนการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแผนที่มีความยืดหยุ่นและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งหาคำตอบให้ใกล้เคียงความจริงที่สุดของ สทนช.
         การบริหารจัดการน้ำอีอีซี น่าจะเป็นแม่แบบบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอื่นที่มีความซับซ้อนได้เช่นกัน