เตรียมชง 4 ร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร ประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป

         เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 63 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ปัจจุบันคนไทยมีการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ ซึ่งการบริโภคเป็นเวลานานจะส่งผลให้สารเคมีซึบซับเข้าสู่ร่างกายทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรในทุกชนิดสินค้าให้มากขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบระยะเวลาปรับเปลี่ยนการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรมาตรฐานทั่วไป ที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานทั่วไปที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ของสินค้าเกษตรด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และข้าว ภายใต้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ที่ 2 ปี ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2562 ได้เห็นชอบในหลักการไว้ เนื่องจากเป็นระยะเวลาของอายุ ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรมากที่สุดของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

         นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 เรื่อง เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป แบ่งเป็นร่างมาตรฐานใหม่ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ถั่วเขียว 2) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับยางพารา เล่ม 2 : การผลิตยางก้อนถ้วย 3) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค และ 4) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มกุ้งเครย์ฟิชสวยงาม และแนวปฏิบัติ อีกทั้งได้ทบทวนร่างมาตรฐานเดิม 1 เรื่อง ได้แก่ การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด

         นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง คือ 1) ถั่วเขียว เป็นการจัดทำร่างมาตรฐานถั่วเขียว เพื่อยกระดับคุณภาพถั่วเขียวให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าระหว่างประเทศ 2) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับยางพารา เล่ม 2 : การผลิตยางก้อนถ้วย โดยครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับยางพารา เพื่อผลิตยางก้อนถ้วยตั้งแต่การจัดการในแปลงปลูก จนถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รวบรวมผลิตผลและการขนส่งเพื่อจำหน่าย 3) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค คลอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีในทุกขั้นตอน ทั้งการเลี้ยงในบ่อเลี้ยงและการเลี้ยงใน แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อให้ได้สัตว์น้ำที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค

         4) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มกุ้งเครย์ฟิชสวยงาม และแนวปฏิบัติ ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มกุ้งเครย์ฟิชทุกชนิด ที่เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าสำหรับนันทนาการ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การจับ และการดูแลหลังการจับก่อนขนส่งออกนอกฟาร์ม เพื่อให้ได้กุ้งเครย์ฟิชสวยงามที่มีสุขภาพดี ปลอดโรค โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และ 5) การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด เนื่องจากในปี 2560 มาตรฐานระหว่างประเทศ (Codex) ได้ปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับ มกษ. 9035 ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2553 ยังไม่ได้มีการปรับปรุง มกอช. จึงเห็นควรเสนอให้มีการทบทวน เพื่อให้มาตรฐานเป็นปัจจุบัน โดยครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การจัดเตรียม การคัดเลือก การตัดแต่ง การบรรจุ การเก็บรักษา จนถึงการขนส่ง เพื่อให้ได้ผักและผลไม้สดที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน และปลอดภัยต่อการบริโภค

         พร้อมกันนี้ มกอช. จะเร่งนำกรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคกก.มาตรฐานฯ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยสาระสำคัญของกรอบดังกล่าว ได้แก่ 1) มาตรฐานและกฎระเบียบ กำหนดหรือพิจารณามาตรฐานของอาเซียนด้านระบบการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง ในระดับฟาร์ม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน 2) การกำหนดขอบข่ายและเงื่อนไขในการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 3) การพัฒนากลไกการประสานงานและการปฏิบัติตามความตกลงของประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นไปตามเงื่อนไขความตกลงในการนำเข้าและส่งออกในภูมิภาคอาเซียน และ 4) การสนับสนุนการปฏิบัติตามความตกลง เช่น การระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้น การเพิ่มบทบาทของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร การมีผลใช้บังคับ และประเด็นอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
         "ปัจจุบันมีมาตรฐานบังคับที่ได้ประกาศกฎกระทรวงแล้วจำนวน 6 มาตรฐาน และมีจำนวนใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า สินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 - 30 มีนาคม 2563 จำนวนทั้งสิ้น 1,211 ฉบับ ได้แก่ 1) หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วย ก๊าซซัลเฟอร์ได้ออกไซด์ สินค้าลำไย ลิ้นจี่ 475 ฉบับ 2) เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอก ซิน สินค้าถั่วลิสงกระเทาะเปลือก 89 ฉบับ 3) การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับ ฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค 87 ฉบับ 4) การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง 257 ฉบับ 5) การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 195 ฉบับ และ 6) หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด 108 ฉบับ" เลขาธิการ มกอช. กล่าว